จากกำปุงเมืองชวา ถึงกำปุงเมืองจีน

ในภาษาอินโดนีเซียมีคำเก่าแก่ชนิดรากเหง้าอยู่คำหนึ่งคือ “kalima อ่านว่า กาลีม่า” ประกอบขึ้นจากคำสองคำว่า “kali”+“ma” โดย “kali” หมายถึง ครั้ง คราว ใช้กับการนับจำนวนต่างๆ อาจเป็นคำเดียวกับคำไทยเดิมว่า “ครา” กินความไปถึงเรื่องสายน้ำ เรื่องของจิตวิญญาณ และยังหมายถึงนิ้วมือทั้งห้า เครื่องมือตรวจนับฉบับแรกของมนุษย์ ในขณะที่ “ma” ใช้เป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ เช่น ไอ้นั่น ไอ้นี่ ตรงกับคำไทย ไท-ไตว่า มะ หรือ หมาก เมื่อรวมความหมายทั้งสองคำ จึงกลายมาเป็นคำเรียก “มือ” และเลขห้า “lima อ่านว่า ลิม่า”

คำว่า “kali” นี้ ศาสตราจารย์ Robert Blust ได้อธิบายถึงคำเก่าแบบ “living fossil” ไว้ในหนังสือเล่มหนาชื่อ “The Austronesian Languages Revised Edition 2013” ในหัวข้อ “6.3.1.11 *qali/kali- ‘sensitive connection with the spirit world” ว่าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายในหมู่ออสโตรนีเซียนทั้งหลาย เช่น ถ้านำคำว่า “kali” ไปเติมหน้าคำไหน คำนั้นจะมีความหมายเชิงจิตวิญญาณเข้ามาพัวพันทันที

เมื่อนิ้วทั้งห้ารวบเข้าหากันในเวลาโกรธเกรี้ยว หรือใช้ในการหิ้วจับสิ่งของต่างๆ ที่ไม่ใช่การเรียงนับจำนวนครั้ง จะเกิดคำว่า “genggam” อ่านว่า เกิงกำ แปลว่า ยึด ถือ หรือ กำ (มือ) เป็นคำสามัญที่นักภาษาศาสตร์ได้ชี้ว่า ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งพวกไท-ไตและออสโตรนีเซียน และปรากฏคำสั้นร่วมสมัยกับ “genggam” คือคำว่า “kam” ด้วยความหมายพื้นฐานว่า “การรวมเข้าด้วยกัน” เป็นคำโดดที่ถูกใช้ประกอบสร้างคำอื่น เช่น คำว่า “kampung อ่านว่า กำปุง” แปลว่า หมู่บ้าน (ที่อยู่ติดชายน้ำ) หรือ “kambang อ่านว่า กำบัง” แปลว่า การแผ่จากจุดรวมลอยออกไปบนผิวน้ำ เป็นต้น

คำว่า “kampung” มาจากคำสองคำ “kam”+“pung” โดยคำหลัง “pung” แสดงออกในลักษณะฟุ้งกระจาย หรือโป่งพองตัวออกของสิ่งเล็กละเอียด เป็นคำเดียวกับคำไทย ไท-ไตว่า “ฟุ้ง” “ปุง” และ “พุง” รวมความหมายว่า การรวมเข้าด้วยกันของสิ่งเล็กๆ ฟุ้งกระจายอยู่ภายใน หรือแปลเป็นภาษาจับต้องได้ว่า หมู่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “kambang” อยู่บ้าง เพราะคำหลังนี้แสดงการขยายตัวออกไปเป็นแพบางๆ

Advertisement

คำว่า “kalima” “genggam” และ “kam” และ “กำ” ในความหมายร่วมว่า การรวมเข้าด้วยกัน ยังผันผายมาถึงคำว่า “คำ” ของพวกไทยจนถึงไท-ไต ใช้สำหรับการกินข้าวด้วยขยุ้ม (กำ) มือทีละคำ ขยายออกเป็นคำ (กำ) พูดสื่อภาษาจนถึงทุกวันนี้

และขอให้สังเกตถึงความเชื่อมโยงกับคำว่า “kuala อ่านว่า กัวลา” และคำว่า “กระ” ที่แปลว่า จุดรวม ที่รวมของลำน้ำสายเล็กๆ ปากแม่น้ำไหลลงไปรวมกับแม่ทะเล จนถึงคำว่า “เกล้า” ที่แปลว่าการรวบมวยผมเข้าไว้ด้วยกัน

คำของพวกอุษาคเนย์ หากขยายขึ้นไปยังเรื่องราวของพวกเยว่ ที่เข้าใจกันว่าพูดภาษาไท-ไต ชอบสักตัว ตัดผมสั้น เชี่ยวชาญเรื่องทางน้ำกว่าใครๆ และเป็นเจ้าของบทเพลงอื้อฉาวชู้รัก (ชายกับชาย) โด่งดังข้ามสหัสวรรษ “Song of the Yue Boatman” เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว

Advertisement

และเป็นพวกเยว่ที่ครั้งหนึ่งเคยขยายตัวขึ้นเหนือจนถึงแคว้นวู่ ตรงปากแม่น้ำแยงซีเกียงของแผ่นดินจีน ชื่อเดิมของเมืองซูโจว ที่เรียกว่า “*klaa-sa” หรือเขียนในแบบ Old Chinese ว่า “*saa-tju” (Zhengzhang Shangfang1991) หากคำ “*klaa-sa” สามารถอ่านแบบอุษาคเนย์ได้ว่า กระ-ซ่า แปลว่าจุดรวมสายน้ำของพวกข้า และคำ “*saa-tju” อ่านใหม่ว่า ซา-โจว แปลว่าข้าเป็นคนจ้วง
โดยจัดให้ “โจว” อยู่ในกลุ่มเดียวกับ จู่ แจว จ้วง เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรือและสายน้ำ เป็นคำภาษาไท-ไตและออสโตรนีเซียนแต่ดั้งเดิม เช่น คนจ้วง หมายถึงผู้ใช้ชีวิตกับลำน้ำ มากกว่าที่จะแปลว่าคนป่าชอบเข้าปะทะต่อสู้ หรือเมืองกว่างโจว ที่ตั้งอยู่ติดกับปากแม่น้ำจูเจียง เป็นต้น

หากถอยลงใต้ไปยังกุ้ยโจวและกวางสี Jerold A. Edmondson ได้อธิบายเรื่องพวก Kam-ก้ำ สายหนึ่งของตระกูลภาษาไท-กะได ไว้ในบทความเรื่อง “The power of language over the past: Tai settlement and Tai linguistics in southern China and northern Vietnam” ตีพิมพ์ในปี 2013 คัดมาบางส่วนว่า

“The village was located in the mouth of a mountain redoubt or basin, or surrounded by a fence. The autonym Kam or Dongzu, nowadays rendered as侗族 in Chinese, have similar meanings. Kam means ‘to be in an enclosed area or those that live in an enclosed area’ and this practice was rendered with the character峒 ‘Mt. Kungtung (in Gansu Province),’ perhaps to suggest such an enclosed and protect style of dwelling to a distant Emperor.”

หมายถึงพวกนี้มักอาศัยอยู่ในหุบเขา หรือในแอ่งทุ่งที่โอบล้อมด้วยภูเขาสูง คล้ายเมืองต่างๆ ในแอ่งภาคเหนือของไทย ที่มีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลผ่านกลางหุบเขา ที่สำคัญและน่าสนใจอยู่ตรงคำว่า “to be in an enclosed area or those that live in an enclosed area” คือใจกลางของการเรียกตัวเองว่า “Kam” ซึ่งตรงกับความหมายของ “kalima” “genggam” “kam” “กำ” และ “คำ” อย่างไม่ผิดฝาผิดตัวแม้แต่น้อย

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image