คอลัมน์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ การปฏิรูปพระพุทธศาสนา

เรื่องที่ผมพูดวันนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบคิดเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่เป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมซึ่งมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนระหว่างพุทธศาสนาและรัฐกับสังคมไทยที่เกี่ยวพันกันอย่างยาวนาน

ช่วงนี้มีข่าวคราวการจับกุมพระสงฆ์เพื่อดำเนินคดีอยู่หลายกรณี แต่คนส่วนใหญ่มักจะอภิปรายกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีกับพระพุทธะอิสระเป็นเรื่องหลัก โดยเกี่ยวโยงไปถึงความเหมาะสมกับการจับกุมและเรื่องของความเชื่อมโยงของพระพุทธะอิสระกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งความเกี่ยวโยงของพระพุทธะอิสระกับผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เมื่อสืบค้นไปก็มีอยู่มากมายหลายฝ่าย

สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือ เราน่าจะอาศัยโอกาสที่มีการพูดคุยกันในเรื่องการดำเนินคดีกับพระสงฆ์บางรูปนี้มาคุยเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรเว้นเอาไว้ นั่นคือเรื่องของการปฏิรูปพุทธศาสนา ซึ่งเหมือนว่าจะมีการพยายามพูดคุยกันอยู่บ้างนับตั้งแต่ก่อนจะมีการชูธงเรื่องการปฏิรูป แต่ก็เหมือนว่าเรื่องการปฏิรูปพุทธศาสนานั้นจะไม่ค่อยได้คืบหน้าไปมากนัก

ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้คนอยู่มิใช่น้อย

Advertisement

มีข้อมูลสองชุดที่น่านำมาถกแถลงเอาไว้ในเบื้องแรก คือ ทรรศนะของผู้คนที่มีต่อการปฏิรูปพุทธศาสนา ตามที่นิด้าเคยทำสำรวจความเห็นไว้เมื่อปี 2559 และข้อมูลสรุปเรื่องของแนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนาจากคณะกรรมการที่ตั้งโดย คสช. ตามที่กรุงเทพธุรกิจได้เคยสรุปไว้

ในปี 2560 นิด้าร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้สำรวจความเห็นของประชาชน เรื่อง “การปฏิรูปพุทธศาสนา” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.48 บอกว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขณะที่ร้อยละ 21.12 บอกว่าต้องดำเนินการ ซึ่งก็หมายถึงว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 87.60 เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูป

ขณะที่ประชาชนร้อยละ 40 ระบุว่า มหาเถรสมาคมดำเนินงานเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 26.32 มองว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย

Advertisement

ส่วนสำคัญที่จะขอลงรายละเอียดหน่อยก็คือ ประชาชนมีมุมมองต่อปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันอย่างไร (วงเล็บคือจำนวนร้อยละ) พบว่าพระสงฆ์ตัดไม่ขาดจากทางโลกแต่ออกมาบวช (55.84) พระสงฆ์ไม่อยู่ในหลักธรรมวินัย (49.76) การสร้างค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญแบบผิดๆ (40.32) วัดมีความเป็นพุทธพาณิชย์ (36.64) องค์กรที่ดูแลพุทธศาสนาอ่อนแอขาดประสิทธิภาพ (32.32) บิดเบือนหลักคำสอนของพุทธศาสนา (31.36) บังคับใช้พระวินัยและบทลงโทษไม่เด็ดขาด (30.32) การปกครองในวัดไม่มีประสิทธิภาพ (27.36) คนที่นับถือพุทธศาสนาไม่เข้าใจถึงแก่นแท้หรือหลักของพุทธศาสนา จากวิจารณญาณในเรื่องของความศรัทธาและสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทันสมัย (2.32) ส่วนคนที่มองว่าพุทธศาสนาไม่มีปัญหาใดๆ มีเพียงร้อยละ 12.36 ซึ่งตัวเลขการสำรวจนี้สะท้อนความตกต่ำในเรื่องของมุมมองที่มีต่อพุทธศาสนามากขึ้นกว่าปีก่อนๆ (http://www.nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=polls-detail&id=513)

นิด้าโพลยังสำรวจความเห็นของประชาชนว่าควรปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างไร พบว่า ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ให้สอดคล้องกับธรรมวินัย (45.94) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสอดส่องดูแลการประพฤติตนของพระสงฆ์ (42.56) ต้องบังคับใช้พระวินัยอย่างเคร่งครัด (42.19) ต้องคัดกรองผู้ที่จะบวช (42.01) การเผยแผ่พุทธศาสนาต้องไม่บิดเบือน (34.25) สร้างค่านิยมการทำบุญที่เหมาะสม (32.42) ปรับปรุงโครงสร้างของมหาเถรสมาคม (32.15) ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (31.32) ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพุทธศาสนา (26.39) (เพิ่งอ้าง)

สําหรับรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2558 มีการพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้คณะกรรมการชุดนี้ต่อมาจะปิดตัวไปแล้ว แต่สาระสำคัญที่กรุงเทพธุรกิจสรุปมา (24 มีนาคม 2558) มีอยู่ 4 ประเด็น หนึ่งคือ เรื่องของทรัพย์สินของวัดหรือพระสงฆ์ ซึ่งมักจะเป็นอำนาจของเจ้าอาวาสและกฎหมายในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดยังไม่เป็นระบบ สองคือ ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา รวมทั้งพระสงฆ์ไทยมีคุณภาพตกต่ำไม่มีระบบกลั่นกรองการเข้ามาบวช สามคือ การทำให้พระวินัยวิปริตและการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย สี่คือ ฝ่ายอาณาจักรต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการฝ่ายศาสนจักร เนื่องด้วยมีการรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมากเกินไปจนการดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ล่าช้า

ทางออกของคณะกรรมการชุดดังกล่าวของ สปช. ประกอบด้วยกัน 4 ทาง นั่นคือการเสนอให้มีกฎหมายจัดการทรัพย์สินของวัด ไม่ให้ทรัพย์สินและผลประโยชน์ดังกล่าวออกไปจากวัดเมื่อพระสึกไปแล้ว สองคือ ให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคมให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าอาวาส สามคือ ให้มีกลไกในการนำพระธรรมวินัยมากำหนดเป็นแนวทางให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ และสี่ ควรมีการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติธรรม โดยมองว่าปัจจุบันพระสงฆ์ขวนขวายเรียนวิชาทางโลกมากกว่าทางพระพุทธศาสนา (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/640560)

โดยสรุป ถ้าลองมองดูข้อมูลทั้ง 2 ชุด คิดว่าแนวคิดของ สปช.คงมีอิทธิพลต่อการตระหนักรู้ของโพลอยู่บ้าง (เพราะออกมาก่อน) แต่แนวคิดของ สปช.นั้นก็คงสะท้อนทั้งความรู้สึกนึกคิดของสังคม และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ไม่ใช่น้อย

ประเด็นที่ควรจะพิจารณาคือ จากกระแสของสังคม การปฏิรูปพุทธศาสนาดูเหมือนจะมุ่งไปทางเรื่องของการควบคุมจัดการสงฆ์เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเรื่องของพระธรรมวินัย การตั้งคำถามกับมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ และเรื่องที่ออกจะเป็นรูปธรรมที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ นั่นแหละครับ

เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ เมื่อพิจารณาเรื่องของการปฏิรูปพุทธศาสนา กับเรื่องของการปฏิรูปพุทธศาสนาในอดีต และภาพกว้างของการปฏิรูปทั้งพุทธศาสนาและการปฏิรูปศาสนาในระดับสากล เราจะพบว่ามีเรื่องราวที่น่าเรียนรู้อยู่ไม่ใช่น้อย

ประการแรกนั้น การปฏิรูปศาสนา มักจะเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน กล่าวคือการปฏิรูปศาสนาอาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการรวบอำนาจหรือเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง และเป็นการชิงอำนาจกันของตัวผู้ปกครองกับตัวศาสนจักร เพื่อแย่งชิงทั้งอำนาจและการครองความคิดจิตใจ นับเนื่องมาจากศาสนามีอิทธิพลสำคัญในการก่อร่างสร้างความคิดของผู้คนให้มีมุมมองและยอมรับต่อระบอบการเมืองและตัวผู้ปกครอง

ขณะเดียวกัน การต่อต้านแข็งขืนกับผู้ปกครองในอดีตจำนวนไม่น้อยก็มักเกิดขึ้นจากการอ้างความชอบธรรมทางศาสนาและการลุกขึ้นของผู้นำศาสนาเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนระบอบในยุคสมัยใหม่นั้นก็มักจะเกี่ยวพันกับการพยายามเปลี่ยนแปลงและจัดการศาสนา ไม่ว่าจะในกรณีการเข้าสู่ยุคการปฏิรูปประเทศของญี่ปุ่น หรือการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในจีน ก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับการจัดระเบียบพุทธศาสนา และในขณะเดียวกัน ศาสนาในประเทศเหล่านั้นก็พยายามที่จะดำรงอยู่ให้ได้ในสังคมเหล่านั้นเช่นกัน

ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ศาสนาพุทธในศรีลังกาไม่ได้ช่วยลดความขัดแย้งทางศาสนาในประเทศลงก็เพราะว่าพระสงฆ์นั้นได้รับการศึกษาบางอย่างที่ปลูกฝังมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อความเป็นชาติของตัวเองที่สุดท้ายก็ถ่ายทอดลงไปสู่สังคมและประชาชน

ประการที่ 2 การปฏิรูปศาสนาอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองได้ ในแง่ของการ “ปรับปรุงคำสอน” มากกว่าการอ้างถึงคำสอนเดิมๆ ในศาสนา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่าคำสอนของศาสนานั้นจับใจกับผู้คนกลุ่มใหม่ๆ ทางสังคมหรือไม่ การปฏิรูปศาสนาในโลกตะวันตกเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า การนำเอาเรื่องของเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตีความทางศาสนา แต่เราไม่ควรตีความเลยเถิดว่า การปฏิรูปศาสนาเท่ากับการยกเลิกศาสนา และโดยธรรมชาติของการปฏิรูปศาสนาก็มักจะตีความว่าการตีความศาสนาใหม่ของตนนั้นมีความเข้มงวดขึ้นด้วยซ้ำ (ในกรณีของคริสต์ศาสนา การปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกับการปกครอง การตีความคำสอน และตัวของสังฆราชเอง) แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของชนชั้นใหม่นั้นก็จะขับเคลื่อนสังคมต่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิ การเติบโตของเมืองและชนชั้นใหม่ในเมือง การให้ความสำคัญกับตัวบทและการตีพิมพ์คำสอน ซึ่งต่อมานำไปสู่การตีพิมพ์เรื่องราวอื่นๆ รวมทั้งการเติบโตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ต่อมาขยายมารับบทบาทของมหาวิทยาลัยทางโลก

สำหรับในสังคมไทย การปฏิรูปพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่เรื่องของพระธรรมวินัยและการสร้างมหาเถรสมาคมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปรับปรุงหลักสูตรของคณะสงฆ์เองนับตั้งแต่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่เช่นกัน รวมทั้งการพยายามสร้างความยืดหยุ่นให้กับการตีความพุทธศาสนาให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโลกทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ด้วย

สิ่งที่สำคัญของการปฏิรูปพุทธศาสนาในบ้านเราในปัจจุบันเมื่อมองเข้าไปในรายละเอียดจะพบว่า คณะสงฆ์กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ (แต่ภาพลักษณ์คือมีพระสงฆ์บางรูปที่มีอิทธิพล ทั้งทางความคิดและทางการเงิน) เพราะถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องของพระธรรมวินัย ซึ่งดูเหมือนว่าฆราวาสสมัยใหม่จะรู้ดี และประกาศตนว่าเป็น “พุทธแท้” มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนที่มีการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าตนมีทั้่งความรู้ในทางโลกและทางธรรมเหนือกว่าคณะสงฆ์ในภาพรวม

เห็นได้จากความสนใจและความเห็นในความต้องการจะตรวจสอบพฤติกรรมของสงฆ์ทั้งในแง่ตัวบุคคลและสถาบัน วัดและมหาเถรสมาคมมากขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือ มีความซับซ้อนในแง่ของการตั้งคำถามระหว่างการแบ่งแยกทางธรรมกับทางโลกมากขึ้น และมองว่าทางโลกต้องควบคุมทางธรรมให้ได้ และที่สำคัญคือทางโลกนั้นรู้ดีกว่าทางธรรม เพราะทางโลกสามารถเข้าใจธรรมะได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบการศึกษาทางธรรมเท่านั้น เช่น สามารถหาอ่าน หรือเลือกสนใจคำสอนของพระเกจิบางรูปได้

ผมไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ผิดหรือถูก และเหมือนกับว่ากระแสการปฏิรูปพุทธศาสนาตอนนี้จะเน้นการบังคับใช้วินัยกับสงฆ์ ทั้งวินัยทางธรรมและวินัยทางโลก แต่ไม่ค่อยเน้นมิติด้านปัญญาในแง่ของการเข้าไปรับฟังและการพยายามเข้าใจโลกของสงฆ์มากนัก กล่าวคือ เราไม่ค่อยได้ยินเสียงในหมู่พระเองว่าท่านมีโลกทัศน์อย่างไร และมีความพยายามในการสนทนากันเพื่อปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของสงฆ์อย่างไรที่จะเชื่อมโยงโลกสมัยใหม่กับโลกของพุทธศาสนาเข้าด้วยกันมากนัก

เรื่องเหล่านี้ใช่ว่าจะไม่มีเลย อย่างน้อยเราก็รับทราบร่วมกันว่า มีการเชื่อมโยงความรู้ทางโลกเข้าด้วยกันในระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ของทั้งสองนิกาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ และเมื่อเข้าสู่เรื่องของการศึกษาปริยัติธรรม หรือการเชื่อมโยงความเข้าใจทางโลกกับทางธรรมเข้าด้วยกันของพระสงฆ์ในทุกระดับนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเห็นความพยายามในการทำความเชื่อมโยงเรื่องราวทางโลกและทางธรรมมากนัก เรื่องราวส่วนใหญ่ในการศึกษาจากที่รับรู้มาเป็นเรื่องของการมุ่งเน้นความถูกต้องท่องจำในเรื่องของภาษีและหลักคำสอนมากกว่า

ผมก็ได้แต่หวังว่าการถกแถลงกันในเรื่องของการปฏิรูปพุทธศาสนาในสังคมไทยจะมีทั้งในเรื่องของวินัย การเงิน การบริหาร และก็เรื่องของการถกเถียงตีความในเรื่องของหลักคำสอนให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงและการตีความมากกว่าท่าทีที่ออกจะเป็นเรื่องของการกวดขันและสร้างวินัยในทุกๆ เรื่องเท่านั้นครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image