สมเด็จพระพันปีหลวง กว่า 50 ปี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน’

สมเด็จพระพันปีหลวง กว่า 50 ปี ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ’ ‘ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน’

“สิ่งที่ข้าพเจ้าปลื้มใจที่สุดในชีวิต คือ การมีมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และสามารถรักษาสมบัติของบ้านเมืองไว้เป็นผลสำเร็จ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ของที่สวยงามอย่างนี้ก็จะสูญหายไป คนไทยรุ่นหลังก็จะไม่มีดู จะไม่ภูมิใจว่าเรามีวัฒนธรรมที่ยาวนาน และมีศิลปะของคนประจำชาติเหลืออยู่”

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สะท้อนพระราชปณิธานอันแน่แน่ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการโดยเสด็จฯ ไปพร้อม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั่วทุกแห่งหนในผืนแผ่นดินไทย ทอดพระเนตรเห็นความยากลำบาก และความทุกข์ของราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ก่อนพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ

หนึ่งในนั้นคือ “พระราชทานอาชีพ”

ก่อเกิดเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2519 โดยพระองค์ได้พระราชทานทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท และทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ ด้วยพระองค์เอง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” โดยนางสนองพระโอษฐ์ที่ตามเสด็จฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

Advertisement

ซึ่งให้สัมภาษณ์พิเศษไว้ในหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินีนาถนักพัฒนาเพื่อปวงประชาสุขศานต์” จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวนิทรรศการ “เพียรสาน…งานศิลป์” จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ที่มา “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ”

“ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้ เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริงๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือ ทำให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมอยู่แล้ว เขาเพิ่มจำนวนโรงเรียนขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

“แต่ชาวนาชาวไร่บอกว่า เขาส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือ ไปเข้าโรงเรียนไม่ได้ เพราะต้องอาศัยอยู่เป็นกำลังช่วยกันทำมาหากิน ดังนั้น จะพบเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ไม่ได้มาเรียนหนังสืออีกมาก ส่วนมากก็ได้จบ ป.4 ซึ่งก็น่าเป็นห่วง

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงหาแหล่งน้ำ ให้การทำไร่ทำนาของเขา เป็นผลต่อประเทศชาติ ต่อบ้านเมือง ทรงพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาในที่ต่างๆ ทรงคิดว่านี้เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ”

พระราชดํารัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทรงมีพระราชประสงค์ให้ชาวไร่ชาวนามีอาชีพเสริมจากการทำงานศิลปาชีพ ไม่ใช่การไปเพิ่มภาระอะไร เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันอยู่แล้ว คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าเอง ช่วงแรกตรัสกับชาวบ้าน ทำเพิ่มอีกหน่อยได้ไหม แทนที่จะทำปีละผืน ก็ขอให้ทำปีละ 2 ผืน แล้วขายให้พระองค์ผืนหนึ่ง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เผยว่า ช่วงแรก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งว่าไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เพราะเขาเก่งอยู่แล้ว ผ้าทุกชิ้นของเขาสวยหมด ไม่ต้องไปปรับปรุงแก้ไขอะไรเขา ให้ทำอย่างที่เขาเคยทำ ก็ทำมาเรื่อยๆ พระองค์จึงทรงเริ่มงานอนุรักษ์ขึ้นในศิลปาชีพ

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

พระราชทานโอกาส “คนเดือดร้อน-ยากจน” ฝึกศิลปาชีพ

ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปภาคไหน จะเปิดโรงฝึกชั่วคราวขึ้นที่นั่นในช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ ซึ่งบางครั้งประทับนานนับเดือนครึ่ง แล้วก็นำราษฎรเข้ามาฝึกที่โรงฝึกนั้น จากนั้นจะส่งเข้าไปฝึกต่อที่สวนจิตรลดาในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน หรือมีปัญหาครอบครัว ซึ่งไม่มีความรู้พื้นฐานงานศิลปะเลย มีหอพักให้อยู่ แยกชายหญิง อย่างผู้ชายพักอยู่ตรงข้ามบ้านราชวิถี ส่วนผู้หญิงพักอยู่ที่วังหลวง ในพระบรมมหาราชวัง มีเงินตอบแทนให้ระหว่างฝึก ขณะเดียวกันก็ทรงดูแลรักษาสมาชิกในครอบครัวของสมาชิกศิลปาชีพทั้งหมดในยามเจ็บป่วยด้วย

“คนเหล่านี้เป็นลูกชาวไร่ ชาวนา ที่ยากจนที่สุด และข้าพเจ้าเลือกมาเป็นพิเศษ เลือกจากความยากจน ครอบครัวไหนยากจนที่สุด แล้วมีลูกมากที่สุด จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเลือกมา แล้วมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่ตึกเก่าๆ ที่ดั้งเดิมเป็นที่อยู่ของเจ้านายต่างๆ มากมายก่ายกอง ข้าพเจ้าให้เขาอยู่ที่นั่น แล้วก็มาทำการฝึกฝนที่จิตรลดา” 

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โรงฝึกแห่งนี้ พระองค์ทรงควบคุมเอง พระราชทานแนวพระราชดำริ รวมทั้งทรงตรวจงานด้วยพระองค์เอง ส่วนครูฝึกไม่ใช่คนดังจากที่ไหน หากเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาๆ ที่มีความชำนาญในภูมิปัญญาแต่ละสาขา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ไม่จำเป็นต้องเล่าเรียนจบสูง

กระทั่งเมื่อเรียนจบแล้ว ผู้ฝึกจะได้กลับไปทำงานที่บ้าน และส่งผลงานกลับมาขายที่ร้านของมูลนิธิศิลปาชีพฯ ซึ่งตอนนั้นจัดขายให้ประชาชนปีละครั้ง ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

สำหรับโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 เปิดสอนงานศิลปาชีพแขนงต่างๆ เช่น แผนกถมเงินและถมทอง เครื่องเงินและเครื่องทอง คร่ำเงินและคร่ำทอง จักสานย่านลิเภา จักสานไม้ไผ่ สานเสื่อกระจูด แกะสลักไม้ แกะสลักหิน แกะสลักหนัง ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ทอผ้าจก ทอผ้าไหมแพรวา ปักซอยแบบไทย ตัดเย็บ ทอพรม งานปั้น ตุ๊กตาไทย เขียนลาย เครื่องปั้นดินเผา ประดับมุก ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ดอกไม้ประดิษฐ์ ช่างไม้และช่างหวาย และบรรจุภัณฑ์

ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันสิริกิติ์” มีภารกิจพัฒนาช่างฝีมือ จากงานศิลปะขั้นพื้นฐานเป็นงานศิลปะชั้นสูง โดยประยุกต์และพัฒนางานศิลปาชีพในแผนกต่างๆ เข้าด้วยกันทำให้เกิดผลงานชิ้นสำคัญ ตลอดจนอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมงานช่างศิลป์โบราณ ที่เกือบจะสูญหายให้กลับมาอีกครั้ง

กว่า 50 ปี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สร้างโอกาสคนไทย

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าอีกว่า จะเห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระวิริยอุตสาหะทำงานนี้มานานกว่า 50 ปี เพื่อให้ผลงานเหล่านี้ได้รับการพัฒนา และอยู่เป็นงานฝีมือของคนไทย ที่ได้แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเรา

“พระองค์ทรงภูมิพระทัยเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่าง ทรงรับสั่งว่าพระองค์ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่ให้โอกาสเท่านั้นเอง”

กว่า 50 ปีของการดำเนินงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สามารถอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมงานช่างศิลป์โบราณ ที่เกือบจะสูญหายให้กลับมาอีกครั้งได้สำเร็จ

ปัจจุบันมีผลงานจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ตำบลเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทำการตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.45-15.30 น. หรือในห้วงเดือนมหามงคลสิงหาคม 2565 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

จัดนิทรรศการ “เพียรสาน…งานศิลป์” นำเสนองานสำคัญด้านหนึ่งคือ งานจักสาน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมถึง 10 ตุลาคม ระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. (หยุดทุกวันพุธ) ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

รวมทั้งมีจัดจำหน่ายในบูธมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตามงานต่างๆ ซึ่งสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นงานฝีมือล้ำค่า ระดับมาสเตอร์พีซ แต่จำหน่ายในราคาย่อมเยา

ซึ่งท่านผู้หญิงจรุงจิตต์อธิบายว่า พระองค์เคยมีรับสั่งกำชับไว้ว่า อย่าได้ขายราคาแพง ไม่ต้องตั้งราคาแบบบริษัทร้านค้า ไม่ต้องคิดกำไร ขาดทุน เพราะทรงอยากให้คนในประเทศได้ใช้ สามารถซื้อหาได้ 

ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า

“ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน”

⦁ ทรงอยากให้คนไทยภูมิใจศิลปะชาติ

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าวว่า 12 สิงหาคมนี้จะเป็นวันมหามงคล สิ่งที่พระองค์ทรงทำมาตลอดเป็นสิบๆ ปี เป็นสิ่งที่ช่วยเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ในท้องถิ่นห่างไกล ให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก

ช่วยเหลือตัวเองได้ และสร้างสรรค์งานดีๆ ที่ทอดพระเนตรมา หยิบยกเอาสิ่งเหล่านั้นมานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งมูลนิธิตั้งมากว่า 50 ปีแล้ว

ซึ่งคิดง่ายๆ ว่าตลอด 50 ปีนี้ งานศิลปหัตถกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นสิ่งที่คนไทยน่าภาคภูมิใจ เมืองไทยมีดีหลายอย่าง ทั้งธรรมชาติป่าเขาทะเล มีหมด รวมถึงงานศิลปะอันละเอียดอ่อนของคนไทยด้วย

“เคยรับสั่งว่า คนที่เขามีงานศิลปะของประเทศชาติเป็นของตัวเอง คนมองก็รู้ว่าประเทศนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมายืนยาวมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่มองเห็นจากงานศิลปะ เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า คนไทยมีศิลปะของตัวเอง มีภาษาพูดของตัวเอง ภาษาเขียนของตัวเอง ทุกคนที่เป็นคนไทยควรภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติของเรา” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าวด้วยน้ำเสียงซาบซึ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นานาชาติแซ่ซ้อง สมเด็จพระพันปีหลวง ยกย่อง ‘ทรงเป็นผู้ให้’

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานประดุจ ‘แม่ห่วงใยลูก’

สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชกรณียกิจ ‘ผ้าไทย’ ประจักษ์ชัด ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ส่งต่อสู่ลูกหลาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image