สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชกรณียกิจ ‘ผ้าไทย’ ประจักษ์ชัด ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ส่งต่อสู่ลูกหลาน

สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชกรณียกิจ ‘ผ้าไทย’ ประจักษ์ชัด ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ส่งต่อสู่ลูกหลาน

“ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศมาหลายปี ได้แลเห็นพระวิริยอุตสาหะและพระราชศรัทธา ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งทรงสอนเรื่องการทำงานให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งในพระราชปณิธาน และได้ตั้งใจปฏิบัติงานที่ทรงมอบหมายมาอย่างสุดความสามารถ คืองานด้านสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการครอบครัว และส่งเสริมอาชีพทางด้านหัตถกรรม เป็นต้น เพราะงานเพื่อประชาชนทั้งหลายมีความสำคัญเสมอกัน ย่อมต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน จะละเว้นทางหนึ่งทางใดเสียมิได้”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต 11 สิงหาคม 2530 สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทย

นับเป็นเวลา 70 ปีที่พระองค์ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงพบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ความอดอยาก เจ็บไข้ ขาดแคลน ของประชาชน

Advertisement

ด้วยพระราชหฤทัยที่ห่วงใยทุกข์สุขของราษฎร มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรพ้นจากความทุกข์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงมุ่งมั่นประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของประชาชน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นการช่วยเหลือให้พสกนิกรสามารถประกอบอาชีพหลักได้ อาทิ การเกษตร น้ำ การพัฒนาชนบท และทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการดูแลทุกข์สุขและสุขภาพอนามัยของราษฎร ดังพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2534 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ความตอนหนึ่งว่า

“…การปฏิบัติงานของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสุขภาพอนามัย งานด้านศิลปาชีพ และโครงการป่ารักน้ำ ล้วนเกิดมาจากการที่ข้าพเจ้าได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎร การทรงเยี่ยมราษฎรนี้คือพระราชกรณียกิจหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันจะออกไปรับทราบปัญหาของชาวบ้าน และหาวิธีแก้ไข ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและรัฐบาลของพระองค์ท่านได้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแลทุกข์สุข รวมทั้งสุขภาพอนามัยของครอบครัวชาวนาชาวไร่ เพราะหากเขาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ครอบครัวก็จะประสบความทุกข์ยาก ชาวนาชาวไร่ที่ยากจนอยู่แล้วก็จะยิ่งจนลงไปอีก บางรายถึงกับต้องสูญเสียที่ดินไปก็มี ระหว่างที่พระองค์ท่านทรงพระราชดำเนินไปตามไร่นานั้น ข้าพเจ้าก็จะอยู่กับราษฎรที่มารับเสด็จ ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามเรื่องสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ต่างๆ ของราษฎร”

Advertisement

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผลสัมฤทธิ์ของพระราชกรณียกิจอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิต ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขสงเคราะห์ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ได้ผลิดอกออกผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ปวงประชาเป็นสุขศานต์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเปี่ยมไปด้วยสุขในชีวิตที่มั่นคง ยั่งยืน

จากการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาสู่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นอย่างมาก ได้เผยถึงภาพความประทับใจการทรงงานของพระองค์ว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงงานเพื่อพสกนิกรชาวไทยในทุกๆ ด้าน ภาพที่ประทับใจ อาทิ ภาพที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมประชาชน แล้วประทับนั่งบนแคร่เพื่อทรงตรวจงานของประชาชนเป็นระยะเวลายาวนานจนถึง 3-4 ทุ่ม นอกจากนี้ ยังประทับใจพระองค์ที่เสด็จฯ เยี่ยมทหารที่ป้องกันประเทศจากผู้ก่อการร้ายเมื่อครั้งในอดีต จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด สถานที่ที่เสด็จฯ ไปจะทุรกันดารเพียงไหน ก็จะเสด็จฯ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แม้ในปัจจุบันบางพื้นที่ยังคงเดินทางไปด้วยความยากลำบาก แล้วยิ่งเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วนั้นยิ่งลำบากกว่ามาก

“พระราชกรณียกิจด้านส่งเสริมอาชีพเป็นที่ประจักษ์ชัดมาก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงงานด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานเรื่องส่งเสริมอาชีพให้กับผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านที่ว่างเว้นจากการทำนา เกิดเป็นศิลปาชีพที่ยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีรายได้เสริม ซึ่งพระองค์ทรงทำอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การจัดหาวัสดุทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทรงขอให้ชาวบ้านทำขึ้นมาเถอะ เป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้จากชาวบ้าน จากนั้นก็ทรงนำมาจำหน่ายผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เงินก็กลับคืนไปสู่ชุมชน สู่ครอบครัว

“ซึ่งเงินที่กลับไปสู่ชุมชน สู่ครอบครัว สู่สตรีนั้น ก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกหลาน ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เจ็บป่วยก็ไปรักษาพยาบาล เงินก็ปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพที่ดีมากขึ้น จากที่พระองค์ทรงงานด้วยความพระวิริยอุตสาหะ ทำให้สตรีไทยของเราหลายครอบครัวในแผ่นดินนี้ไม่ได้ยึดอาชีพเกษตรกรรมนำ ปัจจุบันยึดอาชีพทอผ้านำ จักสานนำ หัตถกรรมนำ

“จากผ้าที่เกือบสูญหายไปจากแผ่นดินไทย ได้กลับฟื้นคืนสู่สังคมไทยมาอีกครั้ง และปัจจุบันได้กระจายไปทั่วประเทศ และด้วยพระองค์ที่ทรงเป็นแบบอย่างของสตรีไทยในการทรงฉลองพระองค์ผ้าไทย ทำให้สังคมไทยได้มีการนำไปใช้ นับได้ว่าพระองค์ทรงส่งเสริมเรื่องของศักยภาพสตรีทั้งในทางตรงและทางอ้อม

“ทางตรง คือ เรื่องงาน เรื่องอาชีพ ทางอ้อม คือ เมื่อผู้หญิงมีอาชีพ ลูกหลานของผู้หญิงก็ได้มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ วันนี้ต้องขอเรียนเลยว่า ในประเทศไทยของเรา ถ้าเทียบศักยภาพของสตรีในอาเซียนกับในโลก เราไม่แพ้ใครเลย คือเราอยู่ในอันดับต้นๆ ในทุกมิติ ทั้งเรื่องการศึกษา การเป็นผู้บริหาร การเป็นบอร์ดของบริษัท คือผู้หญิงไทยอยู่ในแนวหน้า”

“เพราะฉะนั้น ในวันนี้ การได้สวมใส่ผ้าไทย รวมทั้งตัวเองด้วยนั้น จะไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ทุกครั้งที่เราใส่ผ้าไทยกลายเป็นความภาคภูมิใจว่า เราเป็นคนไทย เราได้มีโอกาสใส่ผ้าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเราเอง ทุกอย่างเป็นงานแฮนด์เมด เป็นภูมิปัญญา ซึ่งก็เหมือนได้ทำบุญ ได้ช่วยเหลือครอบครัวอีกเป็นจำนวนมาก ที่เขาอาจจะมีลูก 4-5 คน ที่กำลังเรียนหนังสือ มีลูกที่เจ็บป่วย มีเด็กเล็กที่ต้องเติบโต รายได้ที่เกิดจากการทำผ้าก็ไปทำให้คุณภาพชีวิต ทำให้ครอบครัวนั้นดีขึ้น แผ่นดินไทยก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นวงจรชีวิต ที่ไม่ใช่แค่ผ้าคือเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น”

ดร.วันดีกล่าวอีกว่า ณ วันนี้ ผ้าไทยไม่ได้มีเพียงประเภทเดียว แต่มีมากมายหลายประเภท อีกทั้งยังมีหลากหลายเทคนิค เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมจก ผ้าไหมขิด ผ้าไหมสามารถย้อมครามได้ ผ้าฝ้ายย้อมครามเราก็มี ทั้งเป็นเชิงเทคนิคมากมายต่างๆ หลากหลาย ทางใต้มีผ้าปาเต๊ะ นับเป็นงานหัตถศิลป์ที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการทรงงานของพระองค์เป็นที่ประจักษ์มากว่าพระองค์ทรงใช้เวลากว่า 70 ปี เพราะฉะนั้น ในวันนี้ เรื่องผ้าเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนที่สุดของการทรงงาน และเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

“ในฐานะที่ได้บริหารจัดงานโอท็อป (OTOP) รายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยทุกครั้งติดอันดับท็อป 3 ของสินค้าโอท็อป จำหน่ายได้ยอดรวมประมาณ 500-1,000 ล้านบาท นี่คือผลสำเร็จจากการทรงงานของพระองค์มาตลอด 70 ปี และมิใช่แค่เรื่องผ้าเท่านั้น ยังมีงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ อีกมากมาย

“ได้มีโอกาสเจอผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี บ้านอยู่ไกลและลึกมาก ไม่มีอาชีพทำงาน พระองค์ทรงรับมาฝึกสอนให้เขาเป็นคนทำดอกไม้แห้ง จนกระทั่งวันนี้อาชีพการทำดอกไม้แห้งได้เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ มีบ้าน มีชีวิตที่ดี

“อีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้สัมผัสอยู่ที่อุดรธานี จากคนทำไร่ทำนามาทั้งชีวิต มีอาชีพเสริมคือการทอผ้า ในวันนี้คุณภาพชีวิตที่ได้จากการทอผ้าก็ทำให้ลูกทั้งสามคนได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี คุณภาพชีวิตดีขึ้นทุกมิติ ไม่ว่าจะเรื่องการอยู่การกิน เรื่องของบ้าน เพราะฉะนั้น ผ้าไม่ได้นำมาใช้แค่เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ผ้าช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย”

ดร.วันดีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรามีผ้าประจำจังหวัดที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่นทั้งหมด 76 จังหวัด ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ดิฉันในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าลายประจำจังหวัด จำนวน 76 ผืน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

“จากพระมหากรุณาธิคุณที่เหมือนสายน้ำ เหมือนสายฝนที่ตกอย่างทั่วถึงทุกตารางนิ้วในแผ่นดินไทย เหมือนผ้าที่ให้ความอบอุ่นจากพระเมตตาของพระองค์ เพราะในวันนี้เราได้มีผ้าไทยสวมใส่ แล้วก็เป็นงาน เป็นอาชีพ เป็นรายได้ เป็นคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการสร้างความมั่นคงแข็งแรงในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม เป็นมรดกวัฒนธรรมส่งต่อภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ในฐานะภริยาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และเป็นนายกสมาคมแม่บ้านกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดีเผยว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเธอ

“พระองค์ทรงงานเพื่อประชาชนในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขในทุกมิติ ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพราะฉะนั้น ในวันนี้เมื่อมีโอกาสทำงาน ก็ขอทำงานเต็มที่ น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า คืนคุณให้แผ่นดิน มาใช้ในการทำงาน และตั้งใจทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแม่แห่งแผ่นดิน ที่ลมหายใจของพระองค์คือประชาชน” ดร.วันดีกล่าว

จากการทรงงานกว่า 70 ปี วันนี้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ศิลปหัตถกรรมที่ทรงอนุรักษ์ไว้นั้น วันนี้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมส่งต่อให้ลูกหลานแล้ว ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า

“…นับเป็นสิ่งน่าปลื้มใจที่ขณะนี้ชาวไทยและชาวต่างประเทศหันมานิยมศิลปหัตถกรรมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะผ้าที่ทอด้วยมือ ซึ่งหากเราร่วมมือกันศึกษาอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งทอของเราให้มีค่ายิ่งๆ ขึ้นไป ศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ก็จะสืบทอดเป็นมรดกชิ้นงามทางวัฒนธรรมไปจนถึงลูกหลานของเราในอนาคต…”

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นานาชาติแซ่ซ้อง สมเด็จพระพันปีหลวง ยกย่อง ‘ทรงเป็นผู้ให้’

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานประดุจ ‘แม่ห่วงใยลูก’

สมเด็จพระพันปีหลวง กว่า 50 ปี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image