ฝันร้ายของมนุษย์ ชะตากรรมของสัตว์ เมื่อ ‘โควิด-19’ บุกโลก

โควิด-19 กลายเป็นฝันร้ายของคนทั้งโลกที่ต่างร่วมกันภาวนาให้สิ้นสุดลงโดยเร็ว

ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนเกินกว่าครึ่งล้าน แต่ อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังกล่าวต่อคนทั้งโลกว่า วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เลวร้ายที่สุดในโลกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หนำซ้ำ ผลกระทบของวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังขยายวงกว้าง ครอบคลุมทุกแวดวงไม่พ้นแม้แต่ สัตว์

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยซื้ออาหารให้สัตว์ต่างๆ ลดลง ไม่แปลกที่ฝูงกวางของสวนกวางเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น จะออกจากแหล่งอาศัยในสวนสาธารณะไปเพ่นพ่านอยู่ในตัวเมือง เพื่อคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามท้องถนนและร้านค้าต่างๆ

Advertisement

ขณะที่ปางช้างหลายแห่งในประเทศไทยได้ออกมาขอรับบริจาค เพื่อนำเงินไปซื้ออาหารให้ช้างที่กำลังอดอยากอยู่ ณ ตอนนี้

นี่ยังไม่กล่าวถึงชะตากรรมของสุนัขและแมวจรจัดที่อยู่ในทุกซอกทุกมุมประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร?

ผู้ดูแลวังช้างอยุธยา แล เพนียด เตรียมกู้เงินมาดูแลช้างช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

สัตว์ (ยัง) แพร่ ‘โควิด-19’ สู่คนไม่ได้!

ทำเอาคนรักสัตว์ขวัญผวา เมื่อทราบข่าวการพบเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ในสุนัขที่ฮ่องกงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมายังพบในแมวที่ประเทศเบลเยียม จนกลัวว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 และอาจเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คนได้

Advertisement

ร้อนถึงคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นสพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช ต้องออกมาอธิบายอย่างละเอียดว่า อนุมานได้ว่าเจ้าของที่ป่วยจากโรคโควิด-19 ไปมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง เมื่อมีการสัมผัสปริมาณไวรัสในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีไวรัสบางส่วนเล็ดลอดเข้าไปเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ ในสัตว์ดังกล่าวอาจมีตัวรับ (Receptors) บางตำแหน่งที่เอื้อให้ไวรัสมาเกาะติดได้

คุณหมอย้ำว่า ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าสุนัขไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด แต่พบปริมาณไวรัสในระดับต่ำและพบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในสุนัขดังกล่าว ส่วนในแมวมีอาการป่วยทั้งระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งตรวจพบไวรัสก่อโรคในอาเจียนและในมูลแมว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์

 

ศ.นสพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช

ขณะที่ รศ.สพญ.ดร.รสมา ภู่สุนทรธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงหลายชนิดสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ โดยเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงปัจจุบันจะมีความจำเพาะของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเฉพาะในสุนัขและแมวเท่านั้น ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดโรคในคน

“จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือแมว สามารถแพร่โรคโควิด-19 สู่คน ในทางตรงข้าม การติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงทั้งหมดเกิดจากการแพร่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 จากผู้ป่วยสู่สัตว์เลี้ยงทั้งสิ้น”

‘เมื่อคนดูแลแย่ สัตว์ก็แย่ไปด้วย’

“คนเองก็เริ่มแพนิก เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไวรัสโควิด-19 ติดเชื้อในสุนัข อีกทั้งแมวในเบลเยียม แม้จะพบว่าไม่มีการแพร่เชื้อสู่คนก็ตาม เมื่อเชื้อไวรัสแพร่ระบาดตอนนี้ อาสาสมัครได้รับผลกระทบก่อนเป็นสเต็ปแรก เงินที่ได้อาจลดน้อยหายไป จนดูแลน้องไม่ได้”

คำตอบจาก นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจ ทูนหัวของบ่าว ในวันที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง และคนทำมาหากินยังต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อไป เมื่อก่อนหน้านี้รัฐบาลบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 สั่งปิดสถานบริการจำนวนมากเป็นการชั่วคราว พร้อมประกาศ “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศ ห้ามบุคคลออกจากเคหสถาน (เว้นแต่ผู้มีเหตุจำเป็น) ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตี 4 วันรุ่งขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง

นัชญ์ระบุว่า เดิมทีผู้ดูแลสุนัขและแมวจรส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ไม่มั่นคง แต่มีจิตใจเมตตา หลังจากโควิด-19 ระบาด คนเหล่านี้ซึ่งเคยทำงานรับจ้างรายวันกลับถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินแม้กระทั่งดูแลตัวเอง สุนัขและแมวจึงอดไปด้วย

“ปกติจะแบ่งอาหารสัตว์ให้อาสาสมัครเรื่อยๆ โดยเราเริ่มจากการให้คนในโลกออนไลน์ซื้ออาหารสัตว์ผ่าน แคทสเตอร์ (Catster by Kingdomoftigers) กำไรจากการขายจะนำไปทำหมันหรือวัคซีนต่อไป ส่วนอาหารจะกระจายให้บ้านอาสาสมัครทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเป็นรอบๆ เช่น 1 เดือน 2 ครั้ง แต่ระยะหลังมีคนโทรเข้ามาขออาหารเยอะขึ้น เพราะเขาถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ เราจึงสร้างระบบลงทะเบียนขึ้น ให้คนเข้ามากรอกรายละเอียดว่าเป็นอาสาสมัครประเภทไหน ดูแลสัตว์ที่ไหน บ้านหรือถนน เราจะได้แบ่งหมวดหมู่ในการจัดการอาหารให้”

สำหรับ ขั้นตอนลงทะเบียนขอรับอาหารแมวฟรี จากแคทสเตอร์นั้น อาสาสมัครจำเป็นต้องระบุชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น อาชีพปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ บุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ อาทิ โรงพยาบาลสัตว์, สัตวแพทย์ที่นำแมวไปรักษา ระบุว่าดูแลแมวพิกัดไหน จำนวนแมวที่ดูแลอยู่พร้อมแนบภาพประกอบ ประเภทอาหารที่ต้องการ อาทิ แมวเด็ก, แมวโต และอธิบายความจำเป็นที่ต้องขอรับบริจาคอาหาร

ท้ายที่สุดนี้ เจ้าของเพจทูนหัวของบ่าวยังเน้นย้ำว่า สิ่งที่อยากฝากคือไม่ใช่แค่คนที่แย่ เพราะเมื่อคนที่ดูแลแมวแย่ สัตว์ก็จะแย่ไปด้วย ดังนั้น จึงต้องกระตุ้นแคมเปญให้คนวางชามน้ำหน้าบ้าน เพราะอย่างน้อยหากสัตว์ไม่ได้กินข้าว ได้กินน้ำก็ยังดี

“คนที่เป็นอาสาต้องแข็งแกร่งก่อนจะออกไปดูแลคนอื่นได้ พอเขาประสบปัญหาเรื่องเงินก็ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอจะไปดูแลหมาแมวต่อ สัตว์ก็จะอดอยากมากขึ้น เราเลยต้องกระตุ้นแคมเปญให้คนวางชามน้ำหน้าบ้าน หรือช่วยซื้ออาหารสัตว์ผ่านเรา อย่างน้อยจะได้มีกำไรเล็กน้อยพอไปทำวัคซีนให้สัตว์ได้ ส่วนอาหารก็นำไปให้อาสาสมัครได้เหมือนเดิม”

ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างไรให้พ้นภัยโควิด?

เมื่อคนแย่ สัตว์ก็พลอยแย่ตาม แต่จะทำอย่างไรไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้ ลองมาฟังวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงโควิด-19 ระบาดจาก สพญ.วิภาวดี ปฐมรพีพงศ์ หรือหมอติ๊ก สัตวแพทย์ประจำวิภาวดีสัตวแพทย์ ดูบ้าง

ลำดับแรก สพญ.วิภาวดีแนะนำให้ กักตัวสัตว์เลี้ยง หรือเลี้ยงแบบระบบปิด งดเว้นการจูงออกไปฉี่ อึ หรือเที่ยวนอกบ้าน เพราะเมื่อเจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงออกไปข้างนอก โอกาสที่คนต้องเจอกัน สัตว์เลี้ยงต้องสัมผัสกันมีสูงมาก จนอาจเป็นพาหะได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการยืนยันแล้วว่าสัตว์ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสโควิดสู่คนได้ แต่ทุกอย่างสามารถเป็นพาหะที่แลกเปลี่ยนเชื้อกันได้

ต่อมา เรื่องสุขอนามัยสำคัญที่สุด เจ้าของต้องรักษาความสะอาด สพญ.วิภาวดีจึงแนะนำว่า ก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงควรล้างมือด้วยสบู่ ควรหมั่นทำความสะอาดของใช้ทุกอย่าง เช่น ชาม กะละมังน้ำและอาหาร ด้วยการล้างและตากแดดอยู่เสมอ

“กรณีการเลี้ยงใกล้ชิด ช่วงที่มีการระบาดแบบนี้ ควรหลีกเลี่ยงการจุ๊บและการจูบ เข้าใจว่าบางคนห้ามใจไม่ได้ แต่ต้องพยายามระงับการสัมผัสแบบใกล้ชิดมากๆ เพราะการจูบหมายถึงว่าเชื้อสามารถเข้ามาได้ง่ายและเร็วมากขึ้น

“ช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์จะงดให้บริการการอาบน้ำ ตัดขน รวมถึงงดรับฝากเลี้ยง แต่หากสัตว์ป่วยก็ยังรับรักษาเหมือนเดิม แต่ทางสถานพยาบาลก็มีวิธีป้องกัน เช่น เจ้าของต้องใส่หน้ากากอนามัย หากไม่ใส่อาจให้รอด้านหน้าสถานพยาบาล เวลานั่งก็ให้ห่างกัน 1 เมตรขึ้นไป ทั้งหมดก็เป็นไปตามกฎระเบียบและความปลอดภัย”

อดถามไม่ได้ว่า หากเจ้าของมีอาการต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นป่วยโรคดังกล่าวจริง บรรดาสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่จะเป็นอย่างไร?

หมอติ๊กอธิบายอย่างละเอียดว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งข้อระเบียบให้สัตวแพทย์ทุกสถานบริการรับทราบข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สามารถแจ้งไปทางกรมปศุสัตว์ หรือกลุ่มระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ โทร 0-2653-4444 ต่อ 4141 เมื่อกลุ่มระบาดวิทยาได้รับรายงานแล้วจะทำการสอบข้อมูลย้อนกลับกับของเจ้าของว่าเป็นจริงหรือไม่ หากติดเชื้อไวรัสจริง ภายใน 3 ชั่วโมง กลุ่มระบาดวิทยาจะประสานหน่วยงานให้ไปเก็บตัวอย่างจากสัตว์ ไม่ว่าจะมีกี่ตัวก็ตาม

คุณหมอยังบอกอีกว่า เมื่อเก็บตัวอย่างจากสัตว์เรียบร้อยแล้ว จะส่งผลตรวจใน 48 ชั่วโมงไปที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ใช้วิธีการตรวจแบบ PCR (Polymerase chain reaction) กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อว่าสัตว์ตัวนั้นมีเชื้อโควิดหรือไม่ กรณีที่ผลตรวจเป็นบวก หน่วยงานจะเคลื่อนย้ายสัตว์ไปกักในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยระดับที่ 3 หรือสถานที่ที่เหมาะสมอย่างน้อย 14 วัน โดยตรวจเชื้อซ้ำทุก 7 วัน จนกว่าจะไม่พบเชื้อ

สำหรับใครที่สวม “หน้ากากอนามัย” ให้สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือป้องกันไวรัสนั้น หมอติ๊กบอกว่า หน้ากากดังกล่าวไม่ได้ออกแบบมาสำหรับสัตว์ และเป็นไปได้ยากมากที่สัตว์จะใส่ได้ตลอดเวลา เว้นแต่ว่าจะใส่แบบครอบเหมือนหน้ากากดำน้ำ ซึ่งก็ไม่มีการออกแบบแบบนั้นเช่นนั้น

“ด้วยหลักการแล้วดี แต่ใช้กับสัตว์ไม่ได้ ดังนั้น หากเป็นกรณีฝุ่น PM2.5 จึงแนะนำให้อยู่ในบ้าน พร้อมติดเครื่องกรองอากาศก็จะช่วยได้”

วิกฤตการณ์ไวรัสระบาด โอกาสธรรมชาติฟื้นฟู

ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสก็ยังมีข่าวดีที่ตอนนี้เป็นโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง

ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ที่ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ออกมากล่าวว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นวิกฤตที่สร้างโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว ให้สัตว์ป่าได้ปรับพฤติกรรมของตัวเองเข้าป่าลึกเพื่อใช้ชีวิตในป่าตามธรรมชาติแต่ดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม สัตว์ที่ได้รับผลกระทบในเวลานี้ก็มีบ้างเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นช้างที่อยู่ตามปางช้างต่างๆ ซึ่งเจ้าของปางช้างได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปชมเหมือนก่อนหน้านี้

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. มอบหมายให้ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือและเยียวยาช้างที่ได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด ดังนี้ 1.กรมอุทยานแห่งชาติเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดชุดทีมสัตวแพทย์เพื่อดูแลและตรวจติดตามสุขภาพช้าง โดยมีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้การสนับสนุน และ 2.กรมอุทยานแห่งชาติบูรณาการร่วมกับกรมการปกครอง เพื่อประสานไปยังอำเภอในท้องที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดำเนินการกำกับดูแลให้ความช่วยเหลือ

หันไปดูสังคมโลก เช่น อินเดีย ซึ่งเปิดเผยเรื่องราวที่น่าดีใจว่า ภายหลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ให้ประชาชนชาวอินเดียอยู่แต่ในบ้าน ส่งผลให้ เต่าหญ้า เต่าสายพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์จำนวนหลายหมื่นตัวขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ในเขตกันจาม รัฐโอริสสา ด้านหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่ารัฐโอริสสาระบุว่า เต่าหญ้าเป็นเต่าสายพันธุ์ที่มักจะวางไข่พร้อมกันเป็นฝูงอยู่แล้ว โดยพื้นที่ชายฝั่งรัฐโอริสสาเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรเต่าหญ้าสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเต่าหญ้าทั่วโลกมาวางไข่ในทุกๆ ปี

เต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บนชายหาดในรัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ กรมป่าไม้อินเดียยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้มีเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่ทำสถิติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และคาดว่าปีนี้จะมีเต่าหญ้าขี้นมาวางไข่ที่ชายหาดแห่งนี้กว่า 4.75 แสนตัว

แม้วันนี้ “โควิด-19” จะพรากชีวิตมนุษย์ไปแล้วมากมาย จนกลายเป็นฝันร้ายของคนทั้งโลก แต่อย่างน้อยก็มีเรื่องน่ายินดีที่ธรรมชาติได้โอกาสฟื้นตัว แต่จะดียิ่งกว่าหากเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้โดยเร็ว

ย้อนอ่าน : เลขาฯยูเอ็นชี้ ‘โควิด’ เป็นวิกฤตโลก เลวร้ายสุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ธรรมชาติฟื้นคืน! เต่าหญ้า นับหมื่นขึ้นวางไข่ชายหาดอินเดีย หลังรบ.ประกาศล็อกดาวน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image