อาสาสมัครฉีด ChulaCOV19 วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย รีวิวละเอียด เผยเสี่ยงติดเชื้อ 3 ครั้ง แต่รอดเสมอ

ภาพโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาสาสมัครฉีด ChulaCOV19 วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย รีวิวละเอียด เผยเสี่ยงติดเชื้อ 3 ครั้ง แต่รอดเสมอ

หลังจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงถึงความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนา วัคซีน ChulaCov19 (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร เมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ไม่นาน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรกที่มีการฉีดวัคซีน ChulaCov19 อาสาสมัครในระยะที่ 1 และต่อเนื่องไปในระยะที่ 2 ภายใต้การควบคุมดูแลจากหลายภาคส่วน

สำหรับวัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนโดยคุณหมอนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดคนเทคโนโลยีนี้คือ Prof.Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (ไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวเตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ล่าสุด วันนี้ (12 สิงหาคม) นายสุกฤษฏิ์ ธีระปัญญารัตน์ หรือผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sukrit Terapanyarat หนึ่งในอาสาสมัครเข้ารับวัคซีน ChulaCov19 ครบแล้ว 2 เข็ม (เข็มแรกวันที่ 24 มิถุนายน 2564 และเข็มที่ 2 วันที่ 15 กรกฎาคม 2564) เผยถึงประสิทธิภาพวัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิด ติดเชื้อโควิด-19 ทว่า ตนเองซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ครั้ง ตรวจหาเชื้อ 3 รอบ ปรากฏว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

Advertisement

นายสุกฤษฏิ์ระบุว่า ว่าด้วยประสิทธิภาพวัคซีน ChulaCOV-19 วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าทางโครงการวิจัยไม่ได้มีการเปิดเผยเลขภูมิคุ้มกันขิงวัคซีนแก่อาสาสมัคร เพียงแต่บอกได้ว่ามันดีมาก ดังนั้น นี่จะเป็นการรีวิวและอธิบายจากประสบการณ์จริง เมื่อที่บ้านและออฟฟิศของผม ติดโควิดเกือบยกครัว แต่ “ผม” เป็นคนเดียวที่ไม่ติด

“1.วัคซีน ChulaCOV ถูกพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

“2.วัคซีน ChulaCOV เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีพัฒนาและวิจัยต่อยอดจาก Moderna ดังนั้น ประสิทธิภาพที่ออกมาจึงมั่นใจได้ว่าเทียบเท่า Pfizer และ Moderna หรืออาจจะดีกว่าสำหรับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพราะกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไปหลังจากทดสอบกับอาสาสมัคร กลุ่มแรก

Advertisement

“3.ผมได้รับวัคซีนขนาด 25 ไมโครกรัม (ใช้น้อยกว่า Pfizer) จำนวน 2 โดส ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์

“4.อาการและผลข้างเคียง : [โดสแรก] วันที่ 24 มิ.ย.64 มีอาการปวดหัวและอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดต่อเนื่องราวๆ 2-3 วัน ไม่มีไข้ และยังทำงานได้ปกติ

“[โดสสอง] วันที่ 15 ก.ค. 64 ปวดหัวหนักกว่าโดสแรก หลังจากฉีด 2 ชั่วโมง และถึงขั้นซมหลังฉีด 6 ชั่วโมง มีไข้หรือตัวรุมๆ แต่ไข้ไม่สูง ปวดหัวตลอดทั้งคืน กว่าจะทุเลาลงก็คือวันที่สอง ซึ่งนอนซม รบกวนการทำงานแน่นอน หลังจากนั้นไข้หายในสองวัน ส่วนอาการปวดหัวจะต่อเนื่องไปร่วม 3-4 วันเลยทีเดียว

“5.หลังจากฉีดวัคซีนครบสองโดสได้ราวหนึ่งสัปดาห์ พ่อของผมเริ่มมีอาการป่วย ปวดหัว ไอ ส่วนพนักงานที่ออฟฟิศไปตรวจโควิด Rapid Antigen Test ผลปรากฏว่าติดโควิด จึงมีการตรวจกันทั้งบ้าน

“ผลลัพธ์ : พนักงานออฟฟิศติด 2 คน ไม่ติด 1 (ซึ่งคนที่บ้านของพนักงานติดเกือบยกครอบครัว), และพ่อของผม

“6.เพื่อความแน่ใจ ทางโครงการวิจัยได้นัดให้ผมไปตรวจ RT-PCR อีกรอบ เพราะผมกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งผลออกมาว่า ผมไม่มีเชื้อโควิดจริงๆ

“7.คุณพ่อมีอาการหนักสุด ส่วนพนักงานแทบไม่มีอาการ ได้ทำการรักษาตามอาการแบบ Home Isolation แยกบ้านกันอยู่

“8.เหตุการณ์เหมือนจะไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ อยู่ๆ อาการคุณพ่อก็ทรุดหนัก ไข้ขึ้นสูง SpO2 ลดลงต่อเนื่องจาก 95 เหลือ 92 ในตอนเย็น และเหลือ 89 ในตอนกลางคืน ไม่ค่อยมีสติและลำบากในการสื่อสาร

“9.ด้วยความจำเป็นที่จะต้องหาโรงพยาบาลด่วน ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบคือ ทุกที่เตียงเต็ม แต่โชคดีที่ติดต่อโรงพยาบาลสมุทรสาครได้ ถึงกระนั้น โรงพยาบาลก็ไม่มีรถฉุกเฉิน จำเป็นที่เราจะต้องขับรถไปเอง

“วันนั้น (29 ก.ค.) หลังจากเพิ่งตรวจ RT-PCR ในวันเดียวกัน ผมต้องใกล้ชิดคุณพ่อที่เป็นผู้ป่วยอีกครั้ง ครั้งนี้มีการสัมผัสและใกล้ชิดมาก แต่ด้วยความจำเป็นต้องพาไปโรงพยาบาล จึงไม่มีทางเลือก (อุปกรณ์ป้องกันมีเพียงหน้ากากอนามัยสองชั้น face shield และถุงมือยาง)

“10.พ่อของผมโชคดีที่ห้อง ER มีเตียงว่าง ได้รับการรักษาและรับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที แม้จะยังไม่เคยตรวจ PCR มาก่อน ก่อนจะได้แอดมิทที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร แม้จะเป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งปัจจุบันอาการดีขึ้นมากแล้ว ย้ายไปโรงพยาบาลสนาม และใกล้จะได้กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน

“11.ส่วนตัวผมเองยังมีนัดต้องไปเจาะเลือดเก็บตัวอย่างกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อวัดภูมิวัคซีนหลังฉีด 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากผมสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงประมาณ 12 วัน ไม่ได้มีอาการอะไร จึงได้ทำการ Rapid Antigen Test อีกครั้ง

“และผลก็ออกมาบอกว่า ผมไม่มีเชื้อ

“อย่างที่เห็นก็คือว่า ผมผ่านการเสี่ยงติดเชื้อมาแล้วถึงสามครั้ง และตรวจสามรอบ

“ครั้งที่ 1 คือการทำงานในออฟฟิศ อยู่กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด ในช่วงที่เชื้อกำลังฟักตัวและไม่มีอาการ

“ครั้งที่ 2 หลังจากคนรอบข้างอาการเริ่มออก ผลจรวจออกมา เริ่มมีการให้พนักงาน WFH แต่ก่อนหน้านั้น ผมเองยังคงต้องขับรถ ร่วมโดยสารกับผู้ที่ติดเชื้อทุกวัน

“ครั้งที่ 3 กลับมาสัมผัสผู้ป่วยโควิดโดยตรงอีกครั้ง หลังจาก distancing กันมานานสัปดาห์นึง

“ด้วยผลทดสอบนี้ น่าจะบ่งบอกได้ดีถึงประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA ได้ดีในระดับนึง และเป็นเหตุผลว่าทำไมวัคซีน ChulaCOV น่าจะเป็นวัคซีนตัวความหวังของคนไทย

“สำหรับคำถามว่า ‘คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนตัวนี้เมื่อใด’ คำตอบก็คือ กว่าจะวิจัยพัฒนาและทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มสอง กลุ่มสามเสร็จ น่าจะช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 เลยครับ

“ถึงกระนั้น ถ้ามันฉุกเฉินจริงๆ ไม่แน่ว่าอาจจะมีการใช้วัคซีนตัวนี้เป็นเข็มสาม ในช่วงปลายปี

“และที่สำคัญที่สุด ถึงแม้จะได้วัคซีนที่ดีแล้วยังไง การ social distancing ก็ยังสำคัญ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดกับสหรัฐ ตอนนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค

“ขอบคุณครับ”

อย่างไรก็ดี วานนี้ (11 สิงหาคม) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในประเทศไทยว่า ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทดสอบการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ให้กับอาสาสมัครแล้ว เพื่อศึกษาประสิทธิภาพสูงสุดของปริมาณวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล และทีมนักวิจัย และลำดับต่อไป จะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดจะเริ่มต้นฉีดได้ในเดือนสิงหาคมนี้

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีติดตามความคืบหน้าและชื่นชมในความสามารถของนักวิจัยไทย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 คนไทยได้ผลิตผลงานที่เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก แม้ยังจะต้องใช้เวลาในการทดสอบผลให้แน่ชัดอีกระยะหนึ่ง แต่ความก้าวหน้าต่างๆ ถือเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของประเทศที่เราจะสามารถลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ เสริมความมั่นคงทางสาธารณสุข

ขณะที่วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะทำการไลฟ์สดแถลงข่าว “แพทย์จุฬาฯแจ้งข่าวดี ทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ในอาสาสมัคร เร่งวิจัยต่อไป” ในเวลา 10.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image