สธ.เผยยังไม่พบโควิดในประเทศเพิ่ม ชี้สาเหตุ ‘วันจีวัน’ ปิดบริการ คนหนีตายกลับไทย

สธ. ยังไม่พบโควิดในปท. เพิ่ม ชี้สาเหตุ วันจีวัน ปิดบริการ คนหนีตายกลับไทย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย และความคืบหน้าของการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อที่ข้ามแดนมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์ต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วง แต่ประเทศไทยเรายังสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ความคืบหน้าของการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เนื่องจากมีบางรายที่ไปในหลายจังหวัด จึงเป็นการทำงานร่วมกันของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ เชียงราย ราชบุรี พะเยา พิจิตร สิงห์บุรี และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทยอยส่งข้อมูลมา โดยล่าสุดข้อมูลช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เดินทางข้ามมาจากเมียนมา รายแรก พบใน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน และเข้าสู่ระบบการรักษาที่ 27 พฤศจิกายน และสัปดาห์นี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในระบบรวม 38 ราย ได้แก่ เชียงใหม่ 5 ราย เชียงราย 26 ราย กทม. 3 ราย และพะเยา พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย

“โดยภาพรวมขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้อง จ.ท่าขี้เหล็ก ในไทย 7 จังหวัด รวมทั้งหมด 38 ราย แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 2 ราย ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศเมียนมา แต่มีประวัติชัดเจนว่าอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อมาก่อน และเป็นการติดเชื้อในประเทศคือ ชายไทย อายุ 28 ปี จ.เชียงราย เป็นเพื่อนกับผู้ป่วยที่มาจากท่าขี้เหล็กและอยู่ด้วยกัน 2 วัน อีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี จ.สิงห์บุรี ที่ไปในพื้นที่ จ.เชียงราย และมีโอกาสไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า และ 20 ใน 38 ราย คือมากกว่าครึ่ง พบจากสถานกักกันโรคท้องถิ่นของรัฐ (Local Quarantine) ในจังหวัด ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่า คนที่ตรวจพบในสถานกักกันโรคจะไม่แพร่เชื้อไปหาผู้อื่น นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

อ่านข่าว : โควิดไทยป่วยใหม่ 21 ราย เป็นพม่า 9 ราย อยู่ในสถานกักกันท้องถิ่น จ.เชียงราย

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ในพบกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากต่างประเทศ การสอบสวนโรคเพิ่มเติม พบว่า 36 จาก 38 ราย มีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงและโรงแรมวันจีวัน (1G1) จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ซึ่งห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพียง 1.5 กิโลเมตร (กม.) ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรประมาณ 2-3 กม. โดยวันจีวันเป็นโรงแรมที่เป็นสถานบันเทิงครบวงจร มีนักลงธุรจากต่างชาติมาร่วมลงทุน มีสิ่งบันเทิงครบวงจรทั้งผับ เธค บาร์ คาสิโน มีลักษณะเป็นห้องแอร์ อากาศปิด มีคนรวมกันจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย จึงมีความเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อสูง ข้อมูลจากผู้ป่วยแจ้งว่าโรงแรมวันจีวัน มีคนไทยไปทำงานจำนวนหลายร้อยคน แต่โรงแรมได้ปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ในเมียนมา จึงทำให้คนทำงานเริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศไทย เป็นเหตุที่ทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อ

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม บางรายไม่มีอาการและอยู่ในระยะฟักตัวของโรค ดังนั้น ต้องสังเกตอาการต่อ แต่ทุกคนที่กลับมาจะเข้าสู่การดูแลของเจ้าที่ฝ่ายปกครองและความมั่นคง เพื่อให้อยู่ในสถานกักกันโรคท้องถิ่นของรัฐ(LQ) จนครบ 14 วัน” นพ.โสภณกล่าว

อ่านข่าว : แอบส่องความหรูหรา โรงแรม1G1 ‘ผับบาร์-กาสิโน’ แพร่โควิด แหล่งสร้างรายได้ ‘สาวไทย’ (คลิป)

สำหรับความคืบหน้าของการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อที่เดินทางมา กทม. นพ.โสภณกล่าวว่า ชายไทย อายุ 30 ปี (สาวประเภท2) และเพื่อนหญิงไทย อายุ 26 ปี ขณะนี้เข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว ผลการสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสทั้งหมด 91 ราย เป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 22 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้สัมผัสในชุมชน 10 ราย ได้แก่ เพื่อนใน อ.แม่สาย 2 ราย ไม่พบเชื้อ 1 ราย รอตรวจผล 1 ราย ครอบครัวใน จ.ปทุมธานี 1 ราย รอตรวจผล ผู้ที่อยู่ในโรงแรม 7 ราย รอติดตาม 2.ผู้สัมผัสในยานพาหนะ 12 ราย อยู่ในระหว่างการติดตาม ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 69 ราย เป็น 1.ผู้ที่พบในชุมชนและที่สาธารณะ 77 ราย ใน จ.เชียงราย 32 ราย ได้แก่ โรงแรมที่อ.แม่สาย 1 ราย ร้านเต้าหู้นมสด 2 ราย ร้านนวด 29 ราย ใร กทม. 12 ราย ได้แก่ พนักงานขับรถแท็กซี่จากดอนเมืองไปบ้าน 1 ราย ติดตามได้แล้ว โรงแรม 2 ราย แท็กซี่ที่พาผู้ป่วยมารพ. 1 ราย และ 2.ผู้สัมผัสบนเที่ยวบิน 33 ราย ซึ่งถือเป็นผู้สัมผัสเสียงต่ำเนื่องจากส่วนหน้ากากอนามัย ได้แก่ เที่ยวบิน SL454 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน รวม 20 ราย, เที่ยวบิน WE137 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน รวม 13 ราย อย่างไรก็ตามจะต้องเฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ 14 วัน

นพ.โสภณกล่าวว่า ผู้สัมผัสกับผู้ป่วย จ.สิงห์บุรี รวมทั้งหมด 55 ราย กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 37 ราย ตรวจหาเชื้อไปแล้ว 32 ราย ให้ผลลบทุกราย โดยจะต้องรอตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง และรอการตรวจอีก 5 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกในครัวเรือน เพื่อนร่วมงาน ที่ทำงาน เจ้าหน้าที่ประกันสังคมจ.อ่างทอง ร้านตัดเสื้อ และเพื่อนบ้านข้างเคียง กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 18 ราย เป็นผู้สัมผัสบนเครื่องบิน โรงแรม สถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้าไปตรวจก่อนการพบเชื้อ ทั้งหมดอยู่ในระหว่างการสังเกตอาการจนครบ 14 วัน

นพ.โสภณกล่าวว่า การสอบสวนโรคของผู้ป่วย หญิงไทย อายุ 51 ปี ใน จ.สิงห์บุรี ที่ติดเชื้อในประเทศไทย คาดว่ารับเชื้อมาจากผู้ป่วยรายก่อนหน้าคือ หญิงไทย อายุ 25 ปี ใน จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ และ ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 21 ปี ใน กทม. ที่เป็นผู้ป่วยมีอาการ เนื่องจากนั่งเครื่องเที่ยวบินเดียวกันสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD8717 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน จากสนามบินแม่ฟ้าหลวงมาดอนเมือง การตรวจสอบเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิดพบว่า ผู้ป่วยรายนี้นั่งห่างจากผู้ป่วยรายก่อนหน้า 8 แถวจึงไม่น่าเป็นสาเหตุของการรับเชื้อ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ขณะที่นั่งรออยู่ในสนามบินแม่ฟ้าหลวงก่อนขึ้นเครื่อง มีภาพบางมุมพบว่ามีการสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง หน้ากากตกลงมาอยู่ใต้จมูกและปากของทั้งผู้ป่วยและผู้ป่วยรายก่อนหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าสาเหตุและสถานที่รับเชื้อ จะ้ป็นพื้นที่นั่งรอในระหว่างอยู่ในสนามบิน อย่างไรก็ตามทางสนามบินได้ทำการปรับระบบการนั่งรอ ทำความสะอาด และย้ำเตือนผู้โดยสารในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง

นอกจากนี้ นพ.โสภณกล่าวถึงบางพื้นที่ที่มีมาตรการปิดโรงเรียน ว่า สำหรับแนวทางของดระทรวงศึกษาธิการและ สธ. จะแนะนำให้ใช้มาตรการปิดโรงเรียน ในกรณีเดียว คือ เมื่อพบบุคลากร นักเรียนในโรงเรียนติดเชื้อโควิด-19 แต่กรณีเป็นเพียงผู้สัมผัส จะให้รายนั้นๆ หยุดเรียนเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ดังนั้นมาตรการปิดโรงเรียนจึงเป็นมาตรการเกินความจำเป็น

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 เพียงระยะ 1 เมตร จะเกิดละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่การทำหัตถการ ทำฟัน ส่องกล้อง จะเกิดละอองขนาดเล็กและใหญ่ ฟุ้งกระจายได้ประมาณ 2-3 เมตร จึงต้องแนะนำว่าให้ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่อยู่พื้นที่ปิดมากเกินไป ขณะเดียวกันข้อมูลรายงานว่า ผู้ป่วย 1 ราย อาจกระจายละอองไปได้ 2-4 ราย ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของพื้นที่ ความชื้น แต่หากมีการระบาดขึ้น พบผู้ป่วยจำนวนมาก ทาง สธ.และเครือข่าย รพ.กองทัพ เอกชน มหาลัย เคยมีตัวเลขที่ทำไว้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ในความสามารถรองรับผู้ป่วยเฉลี่ย 230-400 รายต่อวัน โดย 1 รายที่ไม่มีอาการจะนอนรักษา 14 วัน อาการหนักที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเฉลี่ย 17 วัน ดังนั้น จึงไม่น่าห่วง สำหรับทั้งประเทศ จะรองรับได้เฉลี่ย 1,000-1,700 รายใหม่ต่อวัน มีเตียง ห้องดูแลโดยเฉพาะ

“เหตุการณ์ชายแดนประชาชนไทย ต่างชาติเข้ามาใน 3 จังหวัด ทั้งนี้ จ.เชียงราย เตรียมพร้อมอยู่แล้ว 60 เตียง ขณะนี้นอน 26 เตียงรองรับได้สบาย ถ้ามากกว่านี้ เตรียมอีก 300 เตียงก็จะมี รพ.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มั่นใจว่าจะสามารถรองรับเหตุการณ์ได้ไม่ว่าหนักแค่ไหน  จ.เชียงใหม่ มีมากกว่า 120 เตียง รพ.นครพิงค์ มี 51 เตียง รอบๆ จังหวัดอีก ส่วน จ.ตาก มีมากกว่า 120 เตียง ดูแลได้ระยะยาว กรณี อ.แม่สอดที่ทราบมีผู้ป่วยอทยุ 70 ปี 1 รายเสียชีวิต ล่าสุด ยังมีชีวิตอยู่ ใส่ท่อหายใจ การรักษาให้ยา รักษาประคับประคอง ยาต้านไวรัส อาการดีขึ้นแล้ว อีกไม่นานออกไปอยู่ห้องปกติได้” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

อ่านข่าว : รพ.แม่สอด ยืนยันชายวัย 70 ยังไม่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า เรื่องยาและอุปกรณ์หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เรามีความพร้อมมากกว่า 6-7 เดือนที่เกิดเหตุการณ์ระบาดแรกๆ เรามีความรู้ ทรัพยากร คน เตรียมพร้อมไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระวังและให้ความสำคัญคือ การให้ประวัติจะต้องให้ประวัติที่แท้จริง หากปกปิดอาจทำให้บุคลาร เพื่อนบ้าน และครอบครัวเดือดร้อน การบอกประวัติเร็วทำให้วินิจฉัยรักษาได้เร็ว เพราะเราสามารถตรวจหาเชื้อได้ในทุกจังหวัด อีกทั้งยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคน บุคคลากรจากกระทรวงอื่นๆ ภาคเอกชนรวมอีกมากกว่าล้านคน ที่จะสามารถดูแลประชาชนให้รอดจากการระบาดของโควิด-19 ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image