จำนองเครื่องจักร อีกสูตรยืดชีพโรงงาน-สู้ดอกพุ่ง

จำนองเครื่องจักร

อีกสูตรยืดชีพโรงงาน-สู้ดอกพุ่ง

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการทุกธุรกิจต้องปรับตัวรับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันมูลค่าเงินสินเชื่อถึง 2.29 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.68% ของมูลค่าเงินให้สินเชื่อทั้งหมด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) คละกันไป ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีเพื่อลงทุนฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 รวม 3.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 19.35% ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อรวมทั้งหมดของประเทศ ซึ่งอยู่ที่18 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นเอสเอ็มอีในภาคการผลิต มียอดคงค้างเงินสินเชื่อกว่า 683,870 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.59% ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่งโลจิสติกส์ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้สมาคมธนาคารไทยจะยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือชะลอการขึ้นดอกเบี้ยให้นานที่สุดในการช่วยลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง แต่ในส่วนของลูกค้าใหม่ซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมแน่นอนว่าต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

วันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า ในยุคที่ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ระดับสูง และล่าสุดกำลังเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของกรมโรงงานฯเองก็กำลังเดินหน้ากระตุ้นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 6.5 หมื่นแห่ง นำเครื่องจักรที่มีภายในโรงงานเข้าจดทะเบียนกับกรมโรงงานฯเพื่อให้สามารถนำไปขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับธนาคารพาณิชย์ทั้งรัฐและเอกชน หรือเรียกอีกอย่างว่า การจดจำนองเครื่องจักร ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เกิดการลงทุนด้านเครื่องจักร ลงทุนด้านอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน

Advertisement

อธิบดีวันชัยระบุว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมโรงงานฯได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโรงงานฯ สถาบันการเงิน 2 แห่ง คือ ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี ดี แบงก์) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานมาเป็นหลักทรัพย์เงินกู้กับสถาบันการเงิน ในมุมกลับกันสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อก็เกิดความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ เพราะรัฐเป็นหน่วยงานกลาง ระยะเวลาโครงการ 1 ปี

เป้าหมายโครงการคือการลดภาระผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตการเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบ และต้นทุนทางการเงินที่กรมโรงงานฯประเมินว่าจะปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำ ไม่เพียงเท่านี้การนำเครื่องจักรมาแปลงเป็นทุน ทำให้เครื่องจักรมีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการซ่อมบำรุง โดยมีกรมโรงงานฯเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด และโครงการนี้ยังเพิ่มศักยภาพการผลิต ลดของเสีย สอดรับกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือเศรษฐกิจบีซีจี

“โครงการนี้มีระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่ทำได้ง่าย เพียงแจ้งจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรกับกรมโรงงานฯ ซึ่งมีบริการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ มั่นใจได้ว่าจะได้รับสินเชื่ออย่างแน่นอน และยังได้สินเชื่อที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ดอกเบี้ยธนาคารอยู่ในช่วงขาขึ้น” อธิบดีกรมโรงงานฯระบุ

Advertisement

อธิบดีกรมโรงงานฯให้ข้อมูลอีกว่า รายละเอียดสินเชื่อจากเอ็มโอยู 4 หน่วยงานที่ให้แก่ผู้ประกอบการจากธนาคารรัฐ 2 แห่งได้ออกผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ในส่วนของเอสเอ็มอี ดี แบงก์ มี 3 ผลิตภัณฑ์ คือ BCG Loan อัตราดอกเบี้ย 3.99% ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี, SME D Plus อัตราดอกเบี้ย 4.5% ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี และ Smart Factory อัตราดอกเบี้ย 6.74% ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี

ขณะที่ ธนาคารกรุงไทยมี 4 ผลิตภัณฑ์ คือ BCG Loan อัตราดอกเบี้ย 3.0% ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี, สินเชื่อ Robotic and Automation อัตราดอกเบี้ย 4.0% ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี, สินเชื่อรักกันยาวๆ อัตราดอกเบี้ย 5.82% ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี และสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ อัตราดอกเบี้ย 5.0% ไม่เกิน ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี
อธิบดีกรมโรงงานฯยังเปิดตัวเลขสถิติการจดจำนองเครื่องจักรของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเปรียบเทียบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2563-2565)

อัพเดต ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 พบว่าในปี 2563 มียอดวงเงินจำนองทั้งปีเพียง 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อมาปี 2564 มียอดวงเงินจำนองเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และในปี 2565 หรือปัจจุบัน มียอดวงเงินจำนอง แม้ยังไม่ครบปีงบประมาณ แต่ตัวเลขการจดจำนองพุ่งขึ้นถึง 2.1 แสนล้านบาท จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและภาคเอกชนทำให้สภาวะเศรษฐกิจมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจมายื่นขอจดทะเบียนจำนองอยู่ประมาณ 30% ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น

โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมที่มายื่นขอจดทะเบียนจำนองกับทางสถาบันการเงินสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า มีจำนวน 16 ราย วงเงินจำนอง 2.1 แสนล้านบาท อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมบด ป่น ย่อยพืช มีจำนวน 9 ราย วงเงินจำนอง 586 ล้านบาท อันดับที่ 3 คือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จากโลหะ มีจำนวน 8 ราย วงงินจำนอง 694 ล้านบาท อันดับที่ 4 คือ อุตสาหกรรมน้ำตาล มีจำนวน 7 ราย วงเงินจำนอง 2.4 พันล้านบาท อันดับที่ 5 คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพลาสติก มีจำนวน 5 ราย วงเงิน จำนอง 629 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวน 43 ราย วงเงินจำนอง 1.4 พันล้านบาท

“ตัวเลขเอสเอ็มอีที่ยื่นขอจดจำนองเครื่องจักรและได้รับสินเชื่อจากธนาคารแล้ว มีสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่ารวม ถือว่าเพิ่มขึ้น แต่เป้าหมายหลังจากนี้กรมโรงงานฯคือมากกว่า 50% เพราะจากฐานตัวเลขโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศของไทย มีสัดส่วนเอสเอ็มอีมากกว่า 80% นั่นแสดงว่ายังมีโรงงานเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่รอความช่วยเหลือ ดังนั้นอยากให้โรงงานเอสเอ็มอีที่สนใจติดต่อมาที่กรมโรงงานฯ เพื่อจดทะเบียนเครื่องจักรและนำไปจดจำนองขอสินเชื่อกับธนาคารได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีคืออุปสรรคลำดับแรกๆ ที่เอสเอ็มอีร้องเรียนกับภาครัฐมาตลอด” อธิบดีกรมโรงงานฯเน้นย้ำ

ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นว่า ความร่วมมือกับกรมโรงงานและ ส.อ.ท. จะส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะสนับสนุนสินเชื่อที่ตอบโจทย์ธุรกิจ อาทิ สินเชื่อ Robotics & Automation เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพิ่มยอดผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อลงทุนในระบบบำบัดของเสียในธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี สินเชื่อธุรกิจเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อการติดตั้ง Solar Rooftop ให้วงเงินสูง ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี

ถือเป็นอีกทางเลือกให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรภายในโรงงานให้เกิดประโยชน์ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image