คอลัมน์ คิดเห็นแชร์ : สถานการณ์ราคาน้ำมัน : โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

สวัสดีครับ พบกันเดือนละครั้งนะครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในคอลัมน์ คิด เห็น แชร์ ของหนังสือพิมพ์มติชน ที่จริงผมตั้งใจว่าครั้งที่ 3 ผมจะเล่าเรื่องเอทานอล ที่มีความสำคัญกับพลังงานอย่างไร เพราะ 2 ตอนแรก ผมเล่าเรื่องสถานการณ์น้ำมันและราคาก๊าซ LPG เพื่อให้ครบหมวดของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

แต่ครั้งนี้ผมว่า ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแรงและเร็วกว่าที่คิดครับ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องฤดูกาล ช่วงหน้าหนาวราคาน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลจะเพิ่มขึ้นโดยปกติอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ มีเรื่องแทรกซ้อนครับ สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป จะทำให้น้ำมันดิบหายออกไปจากตลาดอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังต้องเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาที่ยังไม่สามารถควบคุมกันได้

มีการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำมันในเดือนหน้า (พฤศจิกายน 2561) แบบที่ว่าเลวร้ายมากๆ ว่า น้ำมันดิบดูไบอาจจะสูงขึ้นจากระดับ 82.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (3 ตุลาคม 2561) จะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปีนี้ น้ำมันเบรนท์จาก 85.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะไปแตะระดับ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลจะเพิ่มจาก 100.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็น 117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลกันเลยทีเดียว

ที่น่ากังวลคือน้ำมันดีเซลครับเพราะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ใช้ในเรื่องของการขนส่งในทุกกิจการซึ่งจะกระทบไปยังส่วนอื่นๆ แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีมาตรการนำเงินจากกองทุนน้ำมันชดเชย อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว 1 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับต่ำมากหรือประมาณ 1-1.20 บาทต่อลิตร

Advertisement

และมติ กบง. ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ให้หลักการเอาไว้ว่าให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในอัตราไม่เกินลิตรละ 1 บาท ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท และทีมงานผมได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนธันวาคมนี้อาจจะพุ่งขึ้นถึงระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้ภารกิจในการรักษาระดับราคาขายปลีกดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยมากถึง 3.60 บาทต่อลิตร ซึ่งหากรัฐไม่ใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยดีเซลไว้ จะทำให้น้ำมันดีเซลขายปลีกปรับจากระดับ 29.89 บาทต่อลิตรเป็น 32.89 บาทต่อลิตร

หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน สถานะของกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีน้ำมัน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2561 หักการช่วยเหลือ LPG แล้ว 7,000 ล้านบาทตามนโยบายรัฐบาล จะเหลือเงินในส่วนของการช่วยเหลือตรึงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลได้ประมาณ 22,213 ล้านบาท การใช้เงินเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไว้ที่ 29.89 บาทต่อลิตรที่อัตราการชดเชย 3.60 บาทต่อลิตร จะสามารถดูแลได้อีก 3.5 เดือน และหากราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เงินกองทุนน้ำมันที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะดูแลภารกิจ “รักษาระดับราคา” นี้ต่อไปได้

มีเพียง 3 แนวทางที่พอจะคิดออกในขณะนี้นะครับ คือ 1) ยังใช้เงินกองทุนน้ำมันจนหมดสภาพคล่อง ซึ่งจะรักษาเสถียรภาพและดูแลได้อีก 3.5 เดือน หลังจากนี้อาจต้องขอให้ ครม.อนุมัติกู้เงินมาเสริม หรือ 2) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ 3) แนวทางสุดท้าย คือ ต้องปล่อยให้ขยับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

Advertisement

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดส่วนตัวของผมนะครับ ส่วนเรื่องนโยบายจะเป็นอย่างไร หรือจะมีข้อเสนอแนวทางไหน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เป็นเรื่องของหน่วยเหนือจะต้องพิจารณาครับ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image