‘กสทช.’​ คาด 5G ทำจีดีพีปี63 ทะลุ 177,039 ลบ. เชื่อโกยเงินประมูล 54,654 ลบ.ขายออก 25 ไลเซนส์​

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 15 มกราคม​ 2563 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออก​ประเทศไทย​ ที่จัดโดยเครือมติชน ภายใต้หัวข้อ​ ลงทุนไทย 2020 สู่บริบทใหม่ว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเปิดประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และภายในต้นเดือนมีนาคม 2563 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ในทันที ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสข่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเปิดให้บริการ 5G แต่ยืนยันว่าเป็นเพียงการเปิดการทดลองทดสอบ 5G เท่านั้น  แต่ไทยจะเปิดเป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2563

นายฐากรกล่าวว่า กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์  โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ ด้วยรูปแบบการประมูลคล็อคอ๊อกชั่น รวม 56 ใบอนุญาต มูลค่า 160,577 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท รวม 26,376 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้าน รวม 87,402 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท รวม 11,421 ล้านบาท

“คาดว่า จะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐ จำนวน 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต เนื่องจากคาดการณ์ว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 2 ชุด คิดเป็นเงิน 17,584 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ทั้งหมด 19 ชุด คิดเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 4 ชุด คิดเป็นเงิน 1,692 ล้านบาท”นายฐากร กล่าว

นายฐากรกล่าวว่า ทั้งนี้ การขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ​โทรศัพท์​เคลื่อนที่​ (โอ​เปอเร​เตอร์)​ รวม 5 ราย ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)​ ในเครือ​บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี)​ ในเครือ​ บริษัท ทรู คอร์ปอ​เรชั่น​ จำกัด (มหาชน), บริษัท​ กสท โทรคมนาคม​จ​ำ​กัด​ (มหาชน)​ หรือ​แ​คท, บริษัท​ ทีโอที​ จ​ำ​กัด​ (มหาชน)​ และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิว​เอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่น​ความถี่​เพื่อรองรับ 5G จากสำนักงาน กสทช. ในทุกย่านความถี่ที่เปิดประมูล

นายฐากรกล่าวว่า สำหรับการลงทุนในอนาคต อยากให้ภาคธุรกิจรวมถึงประชาชนเตรียมความพร้อม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานประเทศจะต้องเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งภาคการเงินที่แทบไม่สามารถแยกออกจากภาคโทรคมนาคมได้ ภาคการผลิต การเมือง รวมถึงภาคสังคม ดังนั้นการต่อยอดการใช้งานในอนาคต จึงเป็นการต่อยอดการใช้งานให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยในปี  2563-2565 จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น คล้ายกับการเกิดระบบ 4G ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจึงต้องต่อยอดการใช้งาน เพื่อให้สามารถเดินหน้า และอยู่รอดต่อไปได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image