‘กรุงเทพธนาคม’ ชวนโอเปเรเตอร์เช่าท่อร้อยสาย ยันเทคโนโลยีล้ำ-ใช้งานได้จริง แถมให้ใช้ฟรี 3 เดือน

‘กรุงเทพธนาคม’ ชวนโอเปเรเตอร์เช่าท่อร้อยสาย ยันเทคโนโลยีล้ำ-ใช้งานได้จริง แถมให้ใช้ฟรี 3 เดือน​

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานครให้ดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยใช้เทคโนโลยีไมโครดักที่มีครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่นำร่อง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ถนนวิทยุ (จากถนนเพชรบุรี ถึงแยกเพลินจิต) ระยะทาง 1.337 กิโลเมตร 2.ถนนรัชดาภิเษก (จากหน้าเอ็มอาร์ทีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7) ระยะทาง 2.060 กิโลเมตร 3.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (จากถนนสาทรใต้ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ระยะทาง 1.670 กิโลเมตร และ 4.เส้นทางถนนวิทยุ (จากแยกเพลินจิต ถึงแยกสารสิน) ระยะทาง 2.185 กิโลเมตร รวมระยะทาง 7.252 กิโลเมตร

นายมานิต กล่าวว่า สำหรับการให้บริการมี 2 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบไมโครดัก ซึ่งรองรับได้สูงสุด ประมาณ 21 ไมโครดัก อัตราค่าเช่า 7,100 บาทต่อไมโครดักต่อกิโลเมตรต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ 2.รูปแบบดาร์คไฟเบอร์ ในอัตราค่าเช่า 500 บาทต่อคอร์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้เคที เปิดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) ทดลองใช้ท่อร้อยสายสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการยืนยันว่า เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถใช้บริการได้จริงและมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี คุณภาพดีกว่าท่อพีวีซีและท่อชนิดอื่น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าและใช้งานมานาน และไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

“ที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เพื่อหาแนวทางการอุดหนุนราคาค่าเช่าท่อ เพื่อลดภาระของผู้ใช้บริการ ​ซึ่งเกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อมีมติในการช่วยเหลือโอเปอเรเตอร์ในการลดภาระดังกล่าว โดยหักเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ซึ่งต้องรอผลการประชุมดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติในการลดค่าใช้จ่ายของทางโอเปอเรเตอร์” นายมานิต กล่าว

นายมานิต กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย เลขาธิการ กสทช. กรุงเทพมหานคร โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั่วกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการเข้าสู่ตรอก ซอยต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ, ภารกิจของกรุงเทพมหานคร และให้บริการงานด้านโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการ เพื่อรองรับการให้บริการไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อหาแนวทางการลดภาระของผู้ใช้บริการอันเกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทีโอที ที่อ้างว่ามีท่อที่พร้อมใช้งานได้นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสได้ให้ทีโอทีนำสายสื่อสารของทีโอทีที่ยังพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าลงท่อของทีโอที โดยไม่เปิดผิวทางเท้าและผิวการจราจร ซึ่งจะกระทบต่อการสัญจรของประชาชน

“เชิญชวนผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาร่วมมือกันนำสายสื่อสารที่รกรุงรังบนเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อความสะอาดความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้สนใจยื่นความจำนง สามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ” นายมานิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image