กพร.ยันอนุญาตบ.อัคราสำรวจแร่ทองคำ ไม่ได้แลกถอนฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการ

กพร.ย้ำการอนุญาตสำรวจแร่ทองคำให้กับบ.อัครา เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้แลกกับการถอนฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการ

ด้วยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายว่า รัฐบาลเชื่อว่าจะแพ้คดีอนุญาโตตุลาการจึงมีการเจรจากับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำบริเวณจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยรัฐบาลเจรจายกประโยชน์หรือทรัพยากรของประเทศให้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี จะเห็นได้จากการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำให้แก่บริษัท อัคราฯ ไปแล้วราว 4 แสนไร่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเคยระบุว่าเป็นเหตุผลในการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำ

อ่านข่าว จิราพร เปิดเอกสารลับที่สุด ซัด “บิ๊กตู่” ประเคนทรัพยากรชาติ แลกกับความผิดตัวเอง (มีคลิป)

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ชี้แจงว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการปกติ ซึ่งได้ถูกระบุไว้ทั้งในข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้น การที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกันมิได้หมายความว่า รัฐบาลเชื่อว่าจะแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

Advertisement

ส่วนการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ จำนวน 44 แปลง เนื้อที่ประมาณ 397,000 ไร่ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ซึ่งอดีตที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการพิจารณาคำขอ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดนโยบายทองคำ ต่อมาคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาอนุญาตได้ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงสามารถที่จะยื่นคำขอเข้าสู่การพิจารณาตามมติของ คนร. ได้เมื่อได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกรอบนโยบายฯ อย่างครบถ้วน การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเป็นการอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ รัฐไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ต่อไป ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นการยกประโยชน์หรือทรัพยากรของแผ่นดินเพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้อภิปรายกล่าวอ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ การที่บริษัท คิงส์เกตฯ ได้เปิดเผยว่าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผงทอง (Gold Sludge) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท อัคราฯ นั้น ก็เป็นการดำเนินการโดยทั่วไปของบริษัทเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องให้ข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ

อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เป็นการดำเนินการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาจจะเกิดจากการทำเหมืองทองคำ เป็นการระงับการอนุญาตและการประกอบกิจการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพัฒนากฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมรัดกุมและสามารถปกป้องคุ้มครองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อาจเกิดจากการทำเหมืองได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Baseline data) การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง (Buffer zone) การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ การวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง การทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เป็นต้น

Advertisement

และยืนยันว่าการยื่นคำขออนุญาตต่าง ๆ เป็นสิทธิของผู้ประกอบการ ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตภายใต้กฎหมาย และกรอบนโยบายฯ ที่คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ มิได้มีการนำทรัพยากรของประเทศให้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image