‘สภาพัฒน์’ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ แต่ข่าวดีจ้างงานปรับตัวดีขึ้น

‘สภาพัฒน์’ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ แต่ข่าวดีจ้างงานปรับตัวดีขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2563 และภาพรวมปี 2563 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2563 ประเมินว่าอาจไม่ได้ออกมาสูงมากนัก เหมือนที่คาดการณ์ไว้ เพราะในช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ดีมากขึ้น หลายธุรกิจขยับได้มากกว่าช่วงการระบาดโควิด-19 แรกๆ โดยหนี้หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19

อ่านข่าว เศรษฐกิจทรุดหนัก ติดลบ 6.1% ‘สภาพัฒน์’ เผย ปี63 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยมียอดคงค้างหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับ 3.12% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ

ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็เอ็นพีแอล หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

Advertisement

ในระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึง 1.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ 2.การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และ 3.การต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว

ด้านภาวะการจ้างงานขณะนี้ถือว่าปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ เนื่องจากกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 38.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 เพราะมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มทำงานบ้าน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรม 3.4%

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.6% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร การว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ทำใหัอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.86% ลดลงจาก 1.90% ในไตรมาส 3/2563 โดยจะเห็นว่า ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่มีจำนวนลดลงมากจากจำนวน 171,987 คนในเดือนพฤษภาคม 2563 เหลือ 64,760 คนในเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในระบบที่ปรับตัวดีขึ้น

Advertisement

ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากมีการระบาดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก อาจจะปรับลดตำแหน่งงานลง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน

หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ รวมทั้งมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน และกระจายให้กับประชาชน แรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานขึ้น รวมทั้งยังมสถานการณ์ภัยแล้ง จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 และการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลด้วย

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการตลาดแรงงาน คือ 1.การรักษาระดับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง 2.การจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยธรรมชาติที่จะส่งผลต่อแรงงานเกษตร และ 3.การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยแรงงานไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี พ.ศ. 2576 แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต จึงต้องกระตุ้นให้คนกลุ่มนีเเข้าสู่การออมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการต้องพึงพิงเบี้ยคนชราในการใช้ชีวิตต่อทางเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image