‘เฟทโก้’ เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนร้อนแรงต่อเนื่อง ได้แรงหนุนจากโควิดคลายตัว-เงินทุนไหลเข้า

‘เฟทโก้’ เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนร้อนแรงต่อเนื่อง ได้แรงหนุนจากโควิดคลายตัว-เงินทุนไหลเข้า

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นักลงทุนคาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 จากการที่ไทยได้รับวัคซีนลอตแรกเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

“ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 2.3% อยู่ที่ระดับ 140.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 8.6% อยู่ที่ระดับ 114.29 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ระดับ 129.41 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.7% อยู่ที่ระดับ 183.33 โดยนักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการมากที่สุด รองลงมาคือหมวดธนาคาร และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ดัชนีมีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อยู่ระหว่าง 1,478.05 – 1,523.11 ซึ่งในเดือนนี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 ซึ่งหดตัวลงติดลบที่ 6.1% จากผลกระทบต่อเนื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังเป็นสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือน FTSE Russell ประกาศลดสัดส่วนหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการเชิงปริมาณ (คิวอี) อัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ  ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และผลการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลัก (Fed, ECB และ BoJ) หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีล) ในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งหากไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจส่งผลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image