เอกชนเฮ! ธปท.ดันสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ วอนแบงก์ปล่อยกู้มากขึ้น

เอกชนเฮ! ธปท.ดันมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ 3.5 แสนล้านบาท วอนแบงก์ปล่อยกู้มากขึ้น

ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการแถลงข่าวเรื่อง มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19ประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สัญญาณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) คาดการณ์ไว้ว่าจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ในไตรมาสที่ 3/2565 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความไม่เท่ากัน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ภาคบริการที่พึ่งการท่องเที่ยว มีการฟื้นตัวช้า ต้องใช้เวลา 4-5 ปี นักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกลับมาเหมือนเดิม ที่จำนวน 40 ล้านคน

อ่านข่าว
ธ.ก.ส. จ่อลดออกสลากออมทรัพย์ลง50% เกษตรกรไม่ถอนเงินฝากสภาพคล่องล้น
ต้อนรถเก่า5.6ล้านคันจำกัดซาก ก.อุตชงครม.คลอดมาตรการภาษีจูงใจเจ้าของ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มาตรการตัวใหม่จะเข้ามาตอบโจทย์กับปัญหา คือ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งได้ปรับปรุงข้อจำกัดจากมาตรการครั้งที่แล้ว ประกอบไปด้วย 1.ขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้สามารถเข้าถึงได้ 2.ขยายเวลาให้ยาวขึ้น 3.ขยายวงเงิน 4.กำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้ง่ายขึ้น 5.ขยายการชดเชยรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

Advertisement

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ ประโยชน์ของมาตรการนี้ คือ 1.ลดภาระลูกหนี้ 2.ให้โอกาสลูกหนี้ซื้อสินทรัพย์กลับคืนได้ 3.ลดความเสี่ยงการขายทรัพย์สินในราคาถูกเกินไป 4.มีโอกาสกลับมาบริหารสินทรัพย์ได้

“แนวทางที่ได้วางเอาไว้ ให้มีความยืดหยุ่น รองรับความไม่แน่นอนตามสถานการณ์ ,ทำให้ครอบคลุมกับปัญหาที่หลากหลาย แก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น และให้ระยะเวลาที่ยาวมากขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรมที่ใช้ระยะเวลานาน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเห็นถึงความเร่งด่วน ในการฟื้นฟูภาคธุรกิจ ทางกระทรวงการคลังได้ช่วยเหลือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โดยใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อแบกรับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ จึงได้เตรียมออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกัน ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภาระชดเชยสูงสุด 40% ทางรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี อีกทั้งได้ร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดจำนอง เหลือ 0.01%

Advertisement

นางสาวกุลยา กล่าวว่า ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ทางกระทรวงการคลังจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการตีโอนทรัพย์ ระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ประกอบธุรกิจ และยังได้ร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง เหลือ 0.01%

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีที่ได้มีมาตรการใหม่ออกมา ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ตรงจุด โดยคำนึงถึงความกังวลของสถาบันการเงิน เสถียรภาพ ต้นทุน ของระบบ สมาคมฯมีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือตัวใหม่ พร้อมกับติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดทันท้วงที

นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาใหม่ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐได้รับประโยชน์สูง เพราะกลุ่มลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่แข็งแรง จากนี้จะมีการขีดเส้นก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อคัดกรองลูกหนี้ว่ามีใครสามารถเข้ามาตรการตัวใหม่ได้

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการก่อนหน้าไม่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ ขอขอบคุณที่รับฟังภาคเอกชนที่ได้เสนอแนะไปหลายครั้ง จากนี้ไปการดำเนินการไปข้างหน้าเป็นเรื่องสำคัญ การสื่อสารหลังจากนี้ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ได้ตั้งไว้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือตัวใหม่ได้ปลดล็อกอย่างจริงจัง มีการช่วยเหลือทุกภาคส่วนธุรกิจ ธนาคารของรัฐมีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามฝากถึงธนาคารเอกชน ให้มีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจแข็งแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image