“ศุภชัย” ชี้แก้ความยากจน ด้วยการปฏิรูปเกษตรกรรมไทยให้ทันสมัย

“ศุภชัย” ชี้แก้ความยากจน ด้วยการปฏิรูปเกษตรกรรมไทยให้ทันสมัย แนะปรับ ‘ฮวงจุ้ย’ เป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับโลก ดึงทุน-ทรัพย์กรมนุษย์ เข้าไทย

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม เวลา 11.20 น. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมการเสวนาเรื่อง “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” ในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก กรุงเทพฯ

นายศุภชัย กล่าวว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ คือ สิ่งที่เราเจอในเรื่องโควิด เหมือนเป็นอุบัติเหตุที่ทั่วทั้งโลกเจอกันหมดเลย เราก็หนีไม่พ้น แต่เราจะเดินไปต่อไป แล้วถามว่าไทยเราจะแข่งขันอย่างไร เราต้องไม่ลืมว่าการศักยภาพในการแข่งขันต้องมาจากพื้นฐาน ถ้าเรายังมีประชากรที่ยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในแง่รายได้ มันเป็นการยากยิ่งเดินหน้าต่อก็ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ชลบุรี ระยอง เพียงแค่ 4-5 จังหวัด สร้างรายได้เป็น 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว 4 หมื่นเหรียญ เทียบเท่ารายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ ภาคเหนือ อีสาน ใต้ รายได้ของประชาชนก่อนอยู่ระดับเส้นความยากจน เพราะฉะนั้นเรามาคิดว่าเกิดอะไรขึ้น จะจัดการกับกับความยากจนได้แบบบูรณาการ

“ส่วนในภาคเหลือ อีสาน ใต้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ประเทศอื่นๆที่เขาประสบความสำเร็จนั้น เขาจัดการกับปัญหานี้ได้ เช่น กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนที่กำลังจะสำเร็จ แก้ไขโดย ระบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนสิ่งที่เราพูดถึงคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำเป็นธุรกิจครัวเรือน เรียกว่า หน้าดำ มือสาก คือสามีภรรยา และต้องใช้แรง เขาขาดเรื่องการบริหารจัดการ ขาดเทคโนโลยี ขาดการตลาด ขาดความพัฒนาในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ขาดนวัตกรรม และขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นการบริหารสหกรณ์แบบเอกชนได้” นายศุภชัยกล่าว

Advertisement

และว่า “ไทยเรามีระบบสหกรณ์ก็จริง แต่เป็นการบริหารแบบราชการ เพราะทุนมาจากราชการเป็นหลัก ฉะนั้นไม่ได้เกิดความกระตือรือร้นในการแข่งขัน ความเป็นองค์กรหรือเอกชนก็ไม่เกิดในสหกรณ์ ถ้าทำได้จริงจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ในส่วนที่กล่าวว่าจะปฏิรูปเกษตรกรรม เกิดความเป็นเอกชน เกษตรกรกลายเป็นเจ้าของกิจการ สมาชิก เป็นเจ้าของ บริหารจัดการนวัตกรรม กระโดดจากเกษตรกร 1.0 เป็น 4.0 เลย เราต้องตั้งสหกรณ์ใหม่ หรือ เรียกว่าเซอร์วิส ฟาร์มมิ่ง โครงสร้างพื้นฐานส่วนนี้สำคัญ สิ่งที่ตามมา คือการลงทุน แล้วจะลงทุนอะไรต่อ ก็คือการบริหารจัดการน้ำ”

“ถ้าสามารถบริหารจัดการน้ำได้ ผลผลิตต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นมหาศาล อาจจะสิบเท่าได้ในฝ่ายบริหาร นำเอามาพัฒนาเทคโนโลยี และทำให้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรสามารถทำสินค้าครัวเรือนเสริมรายได้ เป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน หรือเรียกว่า ทาวน์ชิพ หรือสร้างเมืองในระดับชุมชน การสร้างเมืองหรือตลาดที่ดีในระดับชุมชน จะเป็นการการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดอีก 10 อุตสาหกรรม มาตรฐานของความเป็นอยู่ของคนขยับขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลาน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี จนถึงมหาวิทยาลัย”

Advertisement

ถ้าความเหลื่อมล้ำมันไม่หาย รวมทั้งการเมืองของเราไม่นิ่ง มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองตลอดเวลา ทำให้การบริหารงานราชการพัฒนาล่าช้า การตัดสินใจช้า ทำให้การแข่งขันโดยภาพรวมช้าตามไปด้วย ทำให้การแข่งขันยากขึ้น ถ้าประเทศอื่นตัดสินใจเร็วกว่าเรา เราก็จะแข่งยาก เราก็เสียโอกาส คิดว่าจึงต้องพูดถึงตัวพื้นฐานก่อน

นายศุภชัย กล่าวว่า “ขณะเดียวกันถ้าเรามองถึงอนาคต คือ ไทยเราต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศเราใหม่ การที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีนั้นยังไม่ใช่การเปลี่ยนฮวงจุ้ย แต่มันคือการดึงดูดการลงทุน ทรัพยากรมนุษย์ในระดับโลก มายังประเทศไทย มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ มาช่วยสร้างประสิทธิผลมวลรวม นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา เราต้องเป็นที่ดึงดูดการลงทุนก่อน โดยไทยต้องกลายเป็นศูนย์กลางอะไรสักอย่าง ถ้าทั่วโลกยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางแล้ว เราจะดึงดูดการลงทุนได้ นำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด ดึงทรัพยากรมนุษย์ และทุน”

“ซึ่งเราเป็นศูนย์กลางอยู่เราในทางภูมิศาสตร์ มีอีอีซี และเราจะต่อยอด เรื่อง 4.0 แต่มันยังไม่พอเพราะประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนกัน ฉะนั้น เราต้องหาจุดเด่นอย่างอื่นที่คนอื่นทำไม่ได้ จึงเสริมว่าเมื่อเรามี เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แล้ว เราก็มี เศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) การสร้างแลนด์บริดจ์ แค่เรื่องการขนส่งสินค้า จากมหาสมุทรแปซิฟิก ไปมหาสมุทรอินเดีย ลองคิดดูว่าเรามีทั้งอีอีซี และ เอสอีซี เราจะกลายศูนย์กลางการขนส่งระดับโลก ถ้าว่าลงทุนไปคุ้มทุนไหม เพราะมีช่องทางสุมาตราอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันเบียดเสียด ลองคิดว่าประหยัดได้ศูนย์วัน จากเดิมที่ไม่อยู่ในทางเลือก เราก็จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ดี กลายเป็นโลจิสติกฮับ ศูนย์กลางการขนส่ง ต่างชาติหันมาลงทุน”

“แล้วก็เชื่อมไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ใหม่เอ็นอีซี เชื่อมไปทางประเทศลาว และประเทศจีนต่อไป ดังนั้น ไทยจะเชื่อมกับอินเดียและจีน ที่เป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 4 ของโลก และมีโอกาสขึ้นไปเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ย และปรับภูมิยุทธศาสตร์ของเรา เสริมสร้างสิ่งที่เราทำได้ แต่ทุกอย่างคือการที่เราไปเปลี่ยนระบบการขนส่งของโลก ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ มันมีการเมืองโลก เราต้องสร้างสมดุลให้ดี ไม่ใช่เอียงไปทางจีน หรือทางสหรัฐอเมริกามากไป เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาอีก”

“พอเราเป็นศูนย์กลางแล้ว ก็สามารถต่อยอดได้อีก กลายเป็น ศูนย์กลางการค้าโลก และกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกต่อไป และจะตามมาเรื่อย เกิดจากเราปรับระบบนิเวศน์ของประเทศเราเอง แต่เราต้องปรับแก้ไขระบบนิเวศน์ทางกฎหมายเศรษฐกิจและด้านภาษี ในแข่งขันได้ด้วย ถ้าทำแล้ว การตัดสินใจที่จะเข้าประเทศ จะมหาศาล ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และขยายโครงสร้างพื้นฐาน แก้ไขเรื่องความยากจนด้วย นอกเหนือจาการปฏิรูปเรื่องเกษตร เข้ามาเสริมสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลาง และก็เป็นประโยชน์ช่วยประเทศใกล้เคียงพัฒนาพร้อมกับเรา พัฒนาในระบบภูมิภาค เป็นจุดที่จะเปลี่ยนประเทศไทย” นายศุภชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image