กรมบัญชีกลาง เว้นระเบียบ จัดซื้อจัดจ้าง ชุดตรวจเอทีเค ให้หน่วยราชการในพื้นที่แดงเข้ม เบิกได้ตามจริง

กรมบัญชีกลาง เว้นระเบียบ จัดซื้อจัดจ้าง ชุดตรวจเอทีเค ให้หน่วยราชการในพื้นที่แดงเข้ม เบิกได้ตามจริง เพื่อควบคุม และคัดกรอง กรณี จำเป็นต้องปฏิบัติงาน

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) ทำให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำเป็นต้องมาปฏิบัติงานต้องรับการคัดกรองด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน หรือ แอนติเจน เทสต์ คิท (ชุดตรวจเอทีเค) ทุกสัปดาห์ นั้น

นายประภาศ กล่าวว่า กรมบัญชีกลางจึงขอซ้อมความเข้าใจว่า การเบิกจ่ายค่าชุดตรวจเอทีเค สำหรับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดดังกล่าว เป็นการเบิกจ่ายค่าวัสดุตามนัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ. 2553 ข้อ 17 ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการสามารถพิจารณาอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค โควิด-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ทั้งนี้ ขอให้ส่วนราชการดำเนินการควบคุมให้มีการเบิกจ่ายค่าชุดตรวจเอทีเค ให้สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานตามจริงด้วย

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจเอทีเค สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 115 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรื่อง การดำเนินการกรณีจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 ในแต่ละครั้งทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามข้อ 79 วรรคสอง แห่งระเบียบฯ และให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานนั้นดำเนินการไปก่อนแล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้วให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม และการดำเนินการดังกล่าว หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 89 (4) โดยให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้าตามระเบียบฯ ข้อ 91 วรรคสอง ดังนั้น หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวได้

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image