‘คลัง’ผวาน้ำมันกดดันเก็บแวต หลุดคำนวณ70ดอลล์เหลือแค่20 ชี้มาตรการภาษีเสียหายน้อยกว่า

AFP PHOTO/Thomas Coex

คลังเผยราคาน้ำมันต่ำกว่า 20 เหรียญ กระทบรายได้รัฐมากกว่าใช้มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ ลุ้นอีเพย์เมนต์เพิ่มฐานผู้เสียภาษีอีกกว่า 1 หมื่นราย ช่วยเพิ่มรายได้รัฐและเอกชนประหยัดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังมีความกังวลถึงสถานการณ์รายได้ปีงบประมาณ 2559 จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ซึ่งประมาณการรายได้เดิมที่ทำไว้บนราคาน้ำมันที่ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ปรับลดลงต่ำกว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นำเข้าจะลดลงอย่างมาก แต่รัฐบาลยังมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4จี มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ชดเชยรายได้ที่หายไปได้ส่วนหนึ่ง

นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในระยะแรก ซึ่งจำนวนภาษีที่เสียจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้มาตรการ แต่ในระยะต่อไปรัฐบาลจะมีรายได้กลับมาเป็น 2 เท่าของภาษีที่สูญเสียไป สำหรับมาตรการทางการเงินแม้จะกระทบบ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ผ่านมาตรการจะเป็นเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น การปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน การปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี โดยรัฐใช้งบเพียงชดเชยดอกเบี้ยเท่านั้น

“งบประมาณที่ใช้ในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น ยืนยันไม่กระทบความยั่งยืน วินัยการคลัง แต่ผลที่ได้กลับมาถือเป็นการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่รัฐบาลต้องใช้นโยบายคลังกระตุ้น เพราะเป็นช่วงที่เอกชนไม่แข็งแรง รัฐต้องทำเป็นตัวอย่าง” นายสมชัยกล่าว

Advertisement

นายสมชัยกล่าวต่อว่า แนวทางที่จะสร้างรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาลผ่านการนำระบบอีเพย์เมนต์มาใช้ รวมถึงการนำภาษีใหม่ คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ จะทำให้กระทรวงการคลังไม่กังวลเรื่องของรายได้รัฐบาล ที่จะมีเข้ามาเพิ่มเติม โดยทั้ง 2 ส่วนนี้ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เข้ามาเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการนำระบบอีเพย์เมนต์มาใช้ รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่างๆ เช่น การพิมพ์ธนบัตร การทำเอกสารต่างๆ การเก็บรักษาเงินสดอีกประมาณ 7.5 หมื่นล้าน รวมแล้วรัฐและเอกชน จะได้ประโยชน์ประมาณเกือบ 2 แสนล้าน

“การนำระบบอีเพย์เมนต์มาใช้จะช่วยเพิ่มฐานผู้เสียภาษีให้มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเมื่อมีการซื้อหรือขาย ระบบจะเชื่อมโยงไปที่กรมสรรพากร ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เบื้องต้นกระทรวงการคลังตั้งเป้าเพิ่มฐานภาษีจากระบบอีเพย์เมนต์ปีละประมาณ 1 หมื่นราย” นายสมชัยกล่าว และว่า ขณะนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีข้อสรุปแล้ว และเตรียมเสนอระดับนโยบายพิจารณา ซึ่งเป็นภาษีใหม่ที่กระทรวงการคลังต้องการผลักดัน นอกจากทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มแล้ว ยังสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีให้เพิ่มขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image