สรรพากรเผย แผนรุกเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% ไม่กระทบนักลงทุนรายย่อยกว่า 85% แน่นอน

สรรพากร รุกแผนเก็บภาษี

สรรพากรเผย แผนรุกเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% ไม่กระทบนักลงทุนรายย่อย กว่า 85% แน่นอน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังมีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขาย ซึ่งภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยกรมและกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาการเรียกเก็บ แต่จะต้องดูหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ประชาชน 85% หรือนักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

สำหรับการศึกษาการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1.การขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทต่อเดือน 2.การขายหุ้นในตลาดฯ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน และ 3.การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป โดยในตรากฎหมายเดิมนั้นกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย แต่ปัจจุบันยังได้รับการยกเว้น

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ศึกษาภาษีทั้ง 2 ส่วน คือ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (แคปิตอล เกน)​ ซึ่งหากจะเรียกเก็บจากส่วนนี้จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่สำหรับการเก็บภาษีการขายหุ้น นั้นมีประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 34 ซึ่งสามารถเก็บได้เลย โดยการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาก็เป็นไปตามแผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการเรียกเก็บทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศก็เรียกเก็บเพียงอย่างเดียว

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า สำหรับการชำระภาษีนั้น ให้โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์ เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยที่ผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก โดยคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 1-2 หมื่นล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image