ดีพร้อม ร่วม มธ.ลำปาง ฟื้นธุรกิจภูมิภาค อัพเกรดสินค้าชุมชน ‘นครเซรามิก-เครื่องปั้นดินเผา’

ดีพร้อม ร่วมมธ.ลำปาง ฟื้นธุรกิจภูมิภาค อัพเกรดสินค้าชุมชน ‘นครแห่งเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา’

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า สถิติในภาพรวม ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชนกว่า 1.9 แสนรายการ และมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 50,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเผชิญกับปัญหาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การแข่งขันและการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเฉพาะสินค้าประเภทงานฝีมือ – หัตถกรรมท้องถิ่นหรือ Local Craft ซึ่งเป็นรูปแบบสินค้าที่หลายภูมิภาคนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจและใช้สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการของผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเริ่มมีความหลากหลายจึงทำให้การแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ทั้งในเรื่องการออกแบบ มาตรฐาน การใช้ประโยชน์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในการสร้างรายได้และต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับงานหัตกรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าและสามารถแข่งขันได้ในตลาดยุคใหม่ จึงเดินหน้านโยบายปี 2565 ภายใต้ ดีพร้อมแคร์ ในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในการเชื่อมโยงพันธมิตรระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ และได้พัฒนาโครงการส่งเสริมและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และหัตถอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อช่วยสร้างมูลค่าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าประเภทงานฝีมือ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเซรามิกซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือภายใต้โครงการดังกล่าว

ซึ่งจะเน้นการสร้างความร่วมมือใน 2 ด้าน ได้แก่ 1.การให้ความร่วมมือด้านบุคลากรมีความรู้ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการให้ความรู้ทักษะด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่นักศึกษาของศูนย์ลำปาง และ 2. การให้ความร่วมมือด้านสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เทคโนโลยี และสถานที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการฝึกภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษา รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรมแก่คณาจารย์และนักศึกษาของศูนย์ลำปาง นอกจากนี้ ยังจะใช้ประโยชน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในการเพิ่มประสิทธิภาพวัตถุดิบและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของการเป็น “นครแห่งเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา” ให้เป็นที่ยอมรับในบริบทใหม่ ๆ ต่อไป

Advertisement

เป้าหมายของของความร่วมมือดังกล่าว เป็นการสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดลำปางและภูมิภาค รวมถึงให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดการต่อยอดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) และนโยบายสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนานวัตกรรมและวัสดุอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image