ส.อ.ท. กังวลการเมืองร้อน จี้รัฐแก้ค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล

ส.อ.ท. กังวลการเมืองร้อน จี้รัฐแก้ค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธันวาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นต้นทุนประกอบการ

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัวสะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน(Omicron) ในช่วงเดือนมกราคม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทำให้สถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย

Advertisement

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,335 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 70.1,สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 45.5, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.8 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 42.6 ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 60.1, เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 50.2 และสภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 41.0 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นยู่ที่ระดับ 96.4 จากระดับ 95.2 ในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไม่รุนแรงและอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก

Advertisement

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1) ขอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ มาตรการลด   ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง

2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ

3) เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19

4) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image