ใช้จ่าย ‘วาเลนไทน์-มาฆบูชา’ ร่วงหนักกว่า 20% หวั่นค่าขนส่งเพิ่ม ดันราคาสินค้า 3-4%

ใช้จ่าย ‘วาเลนไทน์-มาฆบูชา’ ร่วงหนักกว่า 20% ม.หอค้าไทย เตือนปัญหาเยาวชนพุ่ง ชี้ขนส่งเพิ่ม 20% ดันราคาสินค้าอีก 4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ จากประชาชน 1,245 รายทั่วประเทศ สำรวจช่วง 2-8 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าส่วนใหญ่กว่า 51% มองว่าบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้คึกคักน้อยลงกว่าปีก่อน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น การแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง ความกังวลเรื่องความปลอดภัย และ ตกงาน โดย 83% ที่เตรียมจะฉลองกับคู่รักในที่พักบ้านแทนการออกนอกบ้าน เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 1,176 บาท จึงประเมินว่ายอดเงินใช้จ่ายวาเลนไทน์ปีนี้มีมูลค่า 2,068 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีมูลค่า 2,560 ล้านบาท หรือลดลง 19.20% เป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 15 ปี จากได้มีการสำรวจมา

ทั้งนี้ ในการสำรวจพบว่าน่ากังวลในภาคสังคม คือ นักเรียนนักศึกษา ระบุจะมีการเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ โดยใช้สถานที่โรงแรมและม่านรูด อีกทั้งกลุ่มวัยรุ่นและคนเริ่มทำงาน ระบุการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในปัจจุบัน และกลุ่มนี้มองว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น และกว่า 52% ระบุว่ายอมรับได้ หากภรรยาหรือสามีของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานกับท่าน อีกทั้งมองว่าปัญหาเด็กและเยาวชนรุนแรงมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องโสเภณีเด็ก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ติดยาเสพติด เด็กเร่ร่อน พ่อ-แม่ไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดู ขาดศีลธรรม การยกพวกตีกัน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ใส่ถุงยางอนามัย) การตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน การคลอดแล้วทิ้ง การล่วงละเมิดทางเพศของคนใกล้ชิด และล่อลวงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรเร่งเข้ามาดูแลเพื่อไม่เป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงในอนาคต

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้สำรวจการใช้จ่ายเงินในเทศกาลวันมาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่ามีทิศทางเดียวกัน ประชาชนระบุจะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากกระทบปัญหารายได้ วิตกต่อเศรษฐกิจ การเมือง และการแพร่ระบาดของโอมิครอน รวมถึงเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ คาดเงินสะพัดลดลงเหลือ 1,900-2,000 ล้านบาท จากปีก่อน 2,321 ล้านบาท หรือมูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับจากทำการสำรวจ

“สำรวจใช้จ่ายตามเทศกาลเป็นไปในทิศทางเดียวกับก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน ก็พบว่ากังวลต่อเรื่องราคาของแพง ห่วงการจ้างงานและรายได้ในอนาคต ทำให้ระมัดระวังใช้จ่าย รวมกับสถานการณ์ล่าสุด เริ่มกังวลต่อจำนวนการแพร่ระบาดโอมิครอนรายวันสูงขึ้นเกิน 1 หมื่นคนต่อวัน กังวลว่าจะทำให้รัฐใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มขึ้นอีกครั้ง อาจกระทบต่อกิจกรรมปกติ และชะงักการจ้างงาน แม้ตอนนี้อัตราว่างงานอยู่ที่ 2% ยังไม่ถือว่าน่าวิตก

Advertisement

“หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็การจ้างงานและรายได้ในอนาคต อีกทั้งมองเรื่องการเข้ามาดูแลค่าครองชีพและราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนกระทบต่อการขนส่งปรับเพิ่ม 20% หากขนส่งเพิ่ม 10% ก็จะมีผลต่อราคาสินค้าสูงขึ้น 1-2% ไม่กระทบต่อกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5% แต่หากขนส่งเพิ่ม 20% ส่งผลต่อราคาสินค้าเพิ่ม 3-4 % จะกระทบต่อเงินเฟ้อเกิน 3% ดังนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะไม่กระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และการผ่อนชำระหนี้” นายธนวรรธน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image