‘พลังงาน’ ชงมาตรการลดค่าไฟเข้า ครม. ‘คลัง’ ชี้กองทุนน้ำมันยังมีเงินกู้อีก 3 หมื่นล้าน ใช้ตรึงราคาได้

แฟ้มภาพ

‘พลังงาน’ จ่อชงมาตรการลดค่าไฟเข้า ครม. บรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำมันแพง หวังยุโรปเข้าสู่หน้าร้อน ความกดดันราคาพลังงานจะลดลง ‘คลัง’ ชี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีเงินกู้อีก 3 หมื่นล้าน ใช้ตรึงราคาได้

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ จะพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงพลังงานในเรื่อง การลดภาระค่ากระแสไฟฟ้า ให้กับประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในเวลานี้

“การแก้ไขปัญหาวิกฤตราคาพลังงานในขณะนี้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง ตามความจำเป็นในแต่ละช่วง เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยหวังว่าหลังจากพ้นฤดูหนาวในทวีปยุโรปในช่วงเดือนเมษายนนี้ และเริ่มเข้าฤดูร้อนในเดือนพฤษภาคม ปริมาณการใช้พลังงานเพื่อทำความอบอุ่นในทวีปยุโรปจะเริ่มลดลง และทำให้ความต้องการของพลังงานในยุโรปลดลง ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันในเรื่องราคาพลังงานได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าขณะนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่จบก็ตาม” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าว

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า สำหรับนโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง ภาคการเกษตรและภาคการผลิตต่างๆ ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น จากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลงประมาณ 3 บาทต่อลิตรของกระทรวงการคลังเป็นเวลา 3 เดือน ร่วมกับการใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้มีวงเงินที่สามารถกู้ได้ 3 หมื่นล้านบาท น่าจะทำให้รัฐบาลสามารถตรึงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซล ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ไปอีกราว 2 เดือน ซึ่งพอดีกับช่วงที่ยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาวแล้ว แรงกดดันด้านราคาพลังงานน่าจะลดลง

Advertisement

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทุกๆ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลกระทบให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ลดลง 0.01% โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลก พุ่งสูงต่อเนื่องไปถึง 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่เกือบ 40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากรัฐบาลต้องการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเหมือนเดิม ก็จำเป็นที่จะต้องใส่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคามากขึ้น รวมถึงอาจจำเป็นต้องลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก จากปัจจุบันลดลงจากอัตราภาษีปกติราวครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว

“ทางเลือกอีกแนวทางหนึ่งก็คือการขยับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกตามนโยบาย ให้สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันและมาตรการลดภาษีน้ำมัน เข้าไปอุดหนุนให้อยู่ในระดับราคาขายปลีกที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังระบุ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า หากราคาน้ำมันดิบยังคงทะยานสูงขึ้น กองทุนน้ำมันจะต้องเข้ามาอุดหนุนราคาเพิ่ม ซึ่ง ครม.ได้มีมติให้กองทุนสามารถกู้เงิน เพื่อใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลได้อีก 3 หมื่นล้านบาท จากกรอบการกู้เงินที่กองทุนสามารถกู้ได้สูงสุด 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็น ครม.ก็สามารถแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเพื่อปรับเพิ่มเพดานสูงสุดที่กองทุนสามารถกู้ได้ ซึ่งในอดีตในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สถานะกองทุนเคยติดลบสูงถึง 8.2 หมื่นล้านบาท จากการเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันในขณะนั้น แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบที่ 1.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันอยู่ระหว่างเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายเป็นองค์กรมหาชน โดยอยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบบัญชี หาก สตง.อนุมัติงบดุลแล้วจึงสามารถกู้ได้ ซึ่งคาดว่ากองทุนจะสามารถดำเนินการกู้เงินได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image