ศึก ‘กรีดยาง’ สุดมันส์! เจ้าของสวน-คนงานสู้เสมอภาค ‘นกหัวจุก’ มาแน่น 158 ตัวประชันเสียงชิงชัย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช  ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ (รอบคัดเลือก) ในงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ว่า มีประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้าร่วมการแข่งขัน กว่า 60 คน

นายราวี ไชยสุข เกษตรกรเจ้าของสวนยาง จำนวน 20 ไร่ จ.บึงกาฬ ในฐานะผู้เข้าแข่งขัน กล่าวว่า ตนได้เข้าแข่งขันกรีดยางได้รางวัลชนะเลิศมา 2 สมัย ในปี 2558 และ 2560 ซึ่งการจะคว้ารางวัลได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้นยางเปลือกต้องสวย มีดกรีดต้องเรียบคม พร้อมกับต้องมีการซักซ้อมมาก่อนแข่งขันด้วย ทั้งนี้ ตนได้เดินทางโดยรถตู้มากับกลุ่มเพื่อนที่ลงแข่งขันในจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยคิดว่าปีนี้จะคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้อีกครั้ง เพราะได้ฝึกซ้อมมาอย่างเต็มที่

ด้านผู้เข้าแข่งขันอีกรายจาก จังหวัดเชียงรายคือ นายวาลี อูเซง ประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยาง กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เข้ามาแข่งขันอีกครั้ง หลังจากไม่ได้มีการจัดแข่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาได้มีการแข่งขันมาหลายรอบแล้วใน จ.น่าน จ.เชียงราย โดยได้รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในปี 2562 พึ่งมาแข่งขันในภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยมีเพื่อนในจังหวัดภาคเหนือด้วยกันร่วมเดินทางเข้ามาแข่งขันด้วย จำนวน 7 คน

“การตัดสินต้องดูท่อน้ำยางว่ามีความเรียบหรือไม่ ท่าเดิน ท่ากรีดยางต้องมีความคล่องแคล่วด้วยเช่นกัน ซึ่งตนได้ซักซ้อมครั้งละ 30 นาที เพราะต้องคอยดูว่าที่กรีดยางไปหน้าเรียบหรือไม่ การแข่งขันครั้งนี้มีลางสังหรณ์ว่าต้องได้แชมป์แน่นอน พกความมั่นใจเต็มร้อย” นายวาลีกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ในเวลา 14.00 น. จะมีการแข่งขันกรีดยางพารา รอบชิงชนะเลิศ โดยชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล จากนายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงค่ำของวันนี้

Advertisement

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะประธานพิธีเปิดการแข่งขัน กล่าวว่า ผู้เข้าแข่งขันเป็นสุดยอดฝีมือในแต่ละพื้นที่ โดยเกณฑ์การให้คะแนนการกรีดยาง ได้แก่ 1.กรีดให้ได้น้ำยางมากที่สุด 2.กรีดหน้ายางให้มีความเสียหายน้อยที่สุด 3.กรีดให้เปลืองหน้ายางน้อยที่สุด และ 4.กรีดให้ประหยัดที่สุด ทั้งนี้หวังว่าจะมีการจัดแข่งขันในระดับโลกที่ประเทศไทย เพราะไทยเป็นเจ้าแห่งยุทธจักรยาง ตามวิสัยทัศน์ของ กยท. ที่ว่าเป็นองค์กรนำด้านยางพาราระดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายในงานยังมีกิจกรรมการแข่งขันอีกรายการ เป็นประกวดแข่งขันนกกรงหัวจุก (4 ยก 10 ดอก) โดย นายลภัส นิลแก้ว เจ้าของกิจการร้านป้ายไวนิล จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก เปิดเผยว่า การแข่งขันวันนี้ มีผู้ส่งนกเข้ามาแข่งขัน 158 ตัว จะมีการประชันเสียงของนก โดยกติกา 4 ยก 10 ดอก หมายความว่า นกจะต้องร้องอย่างน้อย 10 ครั้ง ในการแข่ง 4 ยก ต่อมาเมื่อได้นกที่เข้ารอบจะเอามาแข่งขันต่อว่าตัวไหนจะร้องได้มากที่สุด

ลภัส นิลแก้ว ผู้เลี้ยงนกหัวจุก

นายลภัส กล่าวว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุก เป็นศาสตร์ของคนภาคใต้ที่ได้เลี้ยงกันนาน โดยมาตรฐานเพลงนกยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิม ทั้งนี้ การแข่งขันนกกรงหัวจุก มีการแข่งขันอยู่ทุกวันวนเวียนไปในแต่ละตำบล โดยเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์ ที่จะมีผู้เลี้ยงได้เข้ามาแข่งขันเยอะ มีการพบปะผู้เลี้ยงด้วยกันไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ มีตั้งแต่ระดับคนรับจ้าง จนถึงระดับเศรษฐีพันล้าน เมื่อเข้ามาสนามแข่งขันทุกคนมีความเท่าเทียมกัน จึงเป็นเสน่ห์ของการเลี้ยงนกกรงหัวจุก บางทีคนที่ซื้อนกมาราคาเป็นล้าน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะทุกครั้ง คนที่ซื้อนกมาในราคาธรรมดาก็มีได้แชมป์ไปด้วย

“ด้วยอาชีพของคนใต้เป็นชาวสวนยาง ซึ่งกรีดยางในช่วงเช้า ตอนบ่ายจะมีเวลาว่าง ก็ได้มีการเลี้ยงนก เอาไปแขวนฟังเสียง นั่งกินกาแฟกัน ซึ่งทำให้เกิดอาชีพตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่ ช่างทำกรงนก ช่างไม้ คนเย็บผ้าคลุมกรง อาหารนก ยาอาหารเสริม ยังไม่รวมถึงมูลค่าของตัวนก สามารถเพิ่มมูลค่าได้เรื่อยๆ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 800 บาท เลี้ยงไปเลี้ยงมาเข้าแข่งขัน อาจจะมีคนมาซื้อต่อในราคาหลักแสนถึงหลักล้านบาทได้” นายลภัส กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image