‘ททท.’ จับมือ ‘มิชลิน ไกด์’ ดันแหล่งท่องเที่ยว-อาหาร ‘อีสาน’ ตั้งเป้า 5 ปี เงินสะพัด 1.5 พันล.

‘ททท.’ จับมือ ‘มิชลิน ไกด์’ ดันแหล่งท่องเที่ยว-อาหาร ‘อีสาน’ ตั้งเป้า 5 ปี เงินสะพัด 1.5 พันล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ร่วมกับ มิชลิน ไกด์ ขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยครอบคลุม 20 จังหวัด โดยคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ปี 2566 ฉบับที่ 6 มีกำหนดเผยแพร่ช่วงปลายปีนี้ ได้คัดเลือกนครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และขอนแก่น เป็น 4 เมืองตัวแทนภาคอีสาน เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะส้มตำที่คนทั่วโลกรู้จักกันอยู่แล้ว และลาบ น้ำตก ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลองด้วย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวยังภาคอีสานมากขึ้น พำนักนานขึ้น และเกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถือเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ โดยคาดว่าหลังจากนี้อีก 5 ปีจะสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,200 ล้านบาท ขณะเดียวกันหลังจากนี้จะไม่มีมิชลิน ไกด์ที่เป็นจังหวัดแล้ว จะมีมิชลิน ไกด์ของประเทศไทยทั้งหมดแทน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้จัดทำคู่มือ มิชลิน ไกด์ มาตั้งแต่ปี 2561 หรือประมาณ 5 ปีแล้ว ซึ่งมีมูลค่าผลกระทางเศรษฐกิจ ประมาณ 800 ล้านบาท สามารถเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยบนเวทีโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมอาหารได้เป็นอย่างดี โดยคู่มือฉบับล่าสุด ปี 2565 พบว่าจำนวนร้านอาหารในเล่มเพิ่มขึ้นจาก 126 ร้าน เทียบกับปี 2561 รวมเป็น 361 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นร้านที่ได้รับดาวมิชลินเพิ่มขึ้นจาก 17 ร้าน เป็น 32 ร้าน และร้านที่ได้รับรางวัล บิบ กูร์มองด์ จาก 35 ร้าน เป็น 133 ร้าน ส่วนขอบเขตพื้นที่ในการเข้าไปดำเนินการคัดสรรและจัดอันดับร้านอาหารในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากคู่มือปี 2561 ครอบคลุมเฉพาะเขตกรุงเทพฯ จนล่าสุดคู่มือปี 2565 ได้ขยายครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ อยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและพังงา ซึ่งในอนาคตก็จะอาจขยายไปยังจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

“มิชลิน ไกด์ เริ่มต้นในปี 2561 จากกรุงเทพฯ เพิ่มไปภูเก็ตและเชียงใหม่ และเพิ่มมาอีกในปีนี้ โดยต่อไปจะไม่มีมิชลิน ไกด์ของจังหวัด แต่จะมีเป็นมิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์ เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่ผ่านมา เตรียมพร้อมสู่นิวแชปเตอร์ หรือบทใหม่ของภาคการท่องเที่ยวไทย” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นายเกว็นดัล ปูลเล็นเนค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือมิชลิน ไกด์ ทั่วโลก กล่าวว่า ผู้ตรวจสอบของมิชลินประทับใจในอาหารอีสานที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและรสชาติจัดจ้าน แม้ใช้วิธีประกอบอาหารที่เรียบง่าย อย่างการต้ม ย่าง นึ่ง หรือตุ๋นด้วยไฟอ่อน แต่กลับให้รสชาติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ทั้งยังมีเทคนิคการถนอมอาหารที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการหมักดองปลาและผักตามฤดูกาลให้สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับประกอบอาหารได้นานขึ้น โดยมีเครื่องปรุงรสพื้นฐานในครัวอีสานอย่างปลาร้า ที่ทำจากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน รวมถึงยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2555 และภาคอีสานถือเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพสูง ทั้งข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image