นักวิชาการ ยกเคส ตปท. เทียบควบรวมทรู-ดีแทค ส่อฮั้ว โก่งค่าบริการสูงลิ่ว

นักวิชาการ ยกเคส ตปท. เทียบควบรวมทรู-ดีแทค ส่อฮั้ว โก่งค่าบริการสูงลิ่ว

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ในวงเสวนาควบรวม ทรู-ดีแทค ผู้บริโภครับกรรม ว่า จากการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ประเทศไทย มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู และดีแทค โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 47% ส่วนทรูอยู่ที่ 33% และดีแทคอยู่ที่ 20% ซึ่งแปลว่า เมื่อทรูและดีแทคควบรวมกิจการแล้วจะมีขนาดที่สูสีกับเอไอเอส อยู่ที่รายละประมาณ 50% โดยมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที แทรกขึ้นมา อยู่ที่ประมาณ 3%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘หมอประวิทย์’ ชี้ช่องกม. ‘กสทช.’ อำนาจล้น เบรกควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เพียงหาให้เจอ

ทั้งนี้ จากดัชนีการกระจุกตัว (HHI) โดยนำส่วนแบ่งทางการตลาด ของผู้เล่นแต่ละราย มายกกำลัง 2 และนำมาบวกกัน หากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงผู้ประกอบการรายเดียว จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 100 ค่าเต็มจึงเป็น 10,000 แต่หากมีผู้ประกอบการเยอะขึ้น ค่าดังกล่าวจะน้อยลงเรื่อยๆ จนใกล้ศูนย์ และถ้ายิ่งใกล้ศูนย์เท่าไหร่ จะยิ่งเป็นตลาดเสรี มีการแข่งขันเยอะเท่านั้น

แต่เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว พบว่า ดัชนี HHI เพิ่มขึ้น จากกว่า 3,500 ไปอยู่ที่เกือบ 5,000 หรือประมาณ 4,700-4,800 ซึ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะที่ กสทช.เอง มองว่า ตลาดที่มีดัชนี HHI เกิน 2,500 เป็นตลาดที่อันตราย และการเพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการ ที่เพิ่มขึ้นเกิน 100 เป็นเรื่องที่น่าตื่นตกใจ ซึ่งสำหรับ กสทช.แล้ว เดิมที่ตลาดก่อนการควบรวมกิจการมีดัชนี HHI เกินเกณฑ์อยู่แล้ว และเมื่อเกิดการควบรวมกิจการ กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 100 แต่เพิ่มขึ้นทีเดียว 1,200-1,300 ถือว่าเยอะมาก

Advertisement

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศไทยเคยมีดัชนี HHI เกิน 4,000 เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่เอไอเอสครองส่วนแบ่งทางการตลาด อาจจะมีดีแทคแซงขึ้นมาบ้าง แต่หลังจากนั้นมา การกระจุกตัวของตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับราคาค่าบริการที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ทรูทำการตลาดอย่างจริงจัง จนสามารถดึงส่วนแบ่งทางการตลาดออกได้ และทำให้ตลาดเกิดการแข่งขัน ส่วนต่างระหว่างราคากับต้นทุน จึงห่างหายลงไปเยอะ แต่เรื่องของอนาคต จากในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 3,000 จะทะยานกลับขึ้นไป ฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีการศึกษา ถึงผลกระทบในการควบรวมกิจการ

ดังนั้น จึงมีการรวบรวมข้อมูล การกระจุกตัวของตลาด ข้อมูลด้านค่าบริการ ข้อมูลต้นทุน การครอบคลุมของโครงข่าย ทั้งระบบ 3G หรือ 4G ทำเป็นแบบจำลองทางสถิติ เพื่อพิจารณา​ว่ามีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบ กับราคาค่าบริการมากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถนำมาเปรียบเที​เทียบได้ว่า ดัชนี HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,500 กลายเป็น 4,700 นั้น จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า การควบรวมครั้งนี้ หากเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ เอไอเอส และทรู ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้น ราว 7-10% แต่หากมีการแข่งขันกันตามปกติราคาค่าบริการ​จะเพิ่มขึ้นราว 13-23% และหากทั้ง 2 รายไม่มีการแข่งขันกันเพราะพอใจกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่รายละประมาณ 50% แล้ว ทั้ง 2 ราย จะสามารถขึ้นราคาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วกัน แบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือแบบเป็นทางการ หรือแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้

Advertisement

ซึ่งส่วนนี้ยังมีเงื่อนไขอยู่เล็กน้อย เช่น กสทช.บอกเสมอ ว่ามีการควบคุมราคาค่าบริการอยู่แล้ว แต่ราคาค่าบริการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ปัจจุบัน​นี้ต่ำกว่าเพดานอยู่ที่ประมาณ 20% ฉะนั้น หากจะมีการปรับขึ้นราคา 10-20% ก็สามารถ​ทำได้ เพราะ​ยังไม่ชนเพดาน จึงมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนี้ แบ่งเป็นหลายส่วน และในต่างประเทศก็มีหลายรูปแบบ เช่น ถ้าห้ามเพิ่มราคา หรือปรับลดแพคเกจของลูกค้าปัจจุบัน ผู้ให้บริการก็จะปรับขึ้นราคากับลูกค้ารายใหม่ หรือมีการปรับขึ้นราคาขั้นต่ำกับลูกค้าบางรายที่ใช้บริการน้อย เพื่อให้เติมเงินมากขึ้น หรืออีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้แพคเกจที่มีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออาจเป็นการเพิ่มค่าบริการในอีกรูปแบบ อาทิ ปรับคุณภาพสัญญาณให้ด้อยลง มีจุดอับสัญญาณ ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้​ เมื่ออ่านกฎหมายตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 แม้ในข้อ 5 จะระบุว่าเป็นการรายงาน แต่ถ้าพลิกหน้าถัดไปในข้อ 9 ที่มีการอ้างถึงข้อ 8 ระบุว่า ให้ถือเป็นการขออนุญาต จาก กสทช. ซึ่งค่อนข้างตรงไปตรงมา และหากย้อนกลับไปในข้อ 8 จะเขียนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน โดยมีการซื้อหุ้น หรือเข้าถือครองหุ้นเกิน 10% ขึ้นไป ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งทาง กสทช. พิจารณาถึงผลกระทบแล้วเห็นว่า เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน กสทช. ก็มีอำนาจในการสั่งห้าม หรือกำหนดมาตรการเฉพาะขึ้น ซึ่งมีอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 หรือปี 2561

โดยประกาศปี 2561 ประกอบด้วย 4 เงื่อนไข​ ได้แก่ 1.ดัชนี HHI หลังจากการควบรวม ทั้งตลาดจะต้องเกิน 2,500 ซึ่งแม้ยังไม่ควบรวมกิจการ​ก็เกินอยู่แล้ว 2.การควบรวมกิจการทำให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกิน 100 ซึ่งส่วนนี้เพิ่มขึ้น 1,000 ขณะที่ 3.มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และ 4.มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งส่วนนี้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น โดย ทรูและดีแทค มีคลื่นความถี่อยู่จำนวนมากพอสมควร มีเสาสัญญาณจำนวนมากเช่นกัน​ ซึ่งตั้งอยู่ซ้ำๆ ในหลายพื้นที่ เนื่องจากเดิมผู้ให้บริการต้องลงทุนส่วนนี้เอง ดังนั้น เมื่อเกิดการควบรวมกิจการโครงสร้างพื้นฐานจึงเพิ่มขึ้น​ และเมื่อเพิ่มขึ้น​จะวนกลับไปหาอุปสรรค ในการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะจำเป็นต้องทำการตลาดใหม่ทั้งหมด อาทิ การเช่าใช้โครงข่ายของผู้เล่นรายอื่น

และส่วนหนึ่ง คือ คลื่นความถี่ ซึ่งโทรศัพท์มือถือไม่สามารถให้บริการได้ โดยคลื่นความถี่จำนวนน้อย เปรียบเหมือนถนนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบหนึ่ง ถ้าเราอยากให้มีรถวิ่งเยอะๆ มีคนใช้บริการเยอะๆ ถนนของเราต้องมีความกว้าง เสถียร สามารถทำงานได้ แต่หากคลื่นความถี่กระจุกตัว ผู้เล่นรายใหม่จะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ เนื่องจากต้องรับต้นทุน​ที่สูงมาก จึงกลายเป็นอุปสรรค​ในการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่

ซึ่งการจัดการกับผลกระทบภายหลังการควบรวมกิจการนี้ ไม่ต้องห้าม หรืออนุญาต แต่มาตรการเชิงโครงสร้าง หรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่ออกมา จะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านการแข่งขันใดๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยาก เพราะการกระจุกตัวครั้งนี้มีความรุนแรง โดยเท่าที่ กสทช. เคยเห็นรายงานจากที่ปรึกษาอิสระ พบว่า ผู้ให้บริการพยายามใช้มาตรการด้านการควบคุมราคา มาตรการควบคุมสัญญาณ การออกมาตรฐานในการให้บริการลูกค้า เพื่อจะบอกว่ามาตรฐานของแต่ละรายต้องอยู่ที่เท่าไร ซึ่งยากต่อการกำกับดูแลอย่างมาก

“ดังนั้น​ ถ้าจะมีการควบรวมกิจการกัน เห็นว่า ต้องมีการใช้ยาแรง โดยสั่งให้ผู้ให้บริการ​ขายโครงสร้างพื้นฐานที่ถือทับซ้อนกันออกมา ซึ่งเป็นแนวทางปกติของต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ที่เมื่อเกิดการควบรวมกิจการระหว่างกิจการด้านโทรคมนาคม มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อาทิ ควบรวมกิจการแล้วมีคลื่นความถี่เยอะเกิน ขายคลื่นความถี่ส่วนเกินออกมา มีเสาสัญญาณเยอะเกิน ขายเสาสัญญาณที่เกินออกมา โดยเร่ขายให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อผลักดัน​ให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด​ ให้ตลาดยังมีผู้ให้บริการ 3 ราย เท่าเดิม”

อีกเครื่องมือหนึ่ง เรียกว่าการประกาศให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช. มีประกาศนี้อยู่ และตลาดอย่างโทรคมนาคมที่เป็นตลาดประเภทค้าปลีกนี้เป็นตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง เมื่อกระจุกตัวสูง ส่วนแบ่งการตลาดเยอะ จึงมีเหตุผลมากมายที่จะประกาศให้ พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จากนั้นจึงมีการควบคุมมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบ ยังไม่มีการออกประกาศดังกล่าวกับผู้ประกอบการรายใด

สำหรับราคาค่าบริการ จากรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า หลังการควบรวมกิจการ ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้นสูงใน 3 ปีแรก แต่ว่าหลังจากนั้น เอ็มวีเอ็นโอ หรือการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายด้วยตัวเอง แต่อาศัยเครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นแล้วนำมาจำหน่ายต่อผ่านโปรโมชั่นและช่องทางการตลาดของตัวเอง จะเข้ามาเสริม ช่วยให้การขึ้นราคาเกิดทำได้ยากขึ้น ราคาจึงไม่เพิ่มขึ้น

แต่ขณะที่ อีกรายงานหนึ่งจากการศึกษาข้อมูลทั่วยุโรป พบว่า การควบรวมที่ผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 รายนั้น ในระยะยาวราคาค่าบริการจะแพงกว่าประเทศที่มีผู้ประกอบการ 4 รายเหมือนเดิม และไม่มีการควบรวมกิจการ อยู่ที่ 29% ซึ่งการมีผู้ประกอบการลดลงจาก 4 เหลือ 3 รายนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีการแข่งขันอยู่มาก แต่กรณีประเทศไทย ผู้ประกอบการจาก 3 รายเหลือ 2 ราย จะรุนแรงแค่ไหน

แม้จะมีเสรีภาพในการทำธุรกิจ แต่เสรีภาพของธุรกิจต้องไม่ไปกระทบกับผลประโยชน์ของประชาชน ไม่สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหากกรณีเหล่านี้ โดยเฉพาะ กสทช. ต้องมีอำนาจในการกำกับดูแล หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถควบรวมกิจการได้ กสทช.ต้องห้าม ซึ่งในมุมของผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป รวมถึงมุมมองของนักวิชาการ อยากส่งเสียงไปยัง กสทช. โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลรายงานของที่ปรึกษาอิสระของผู้ให้บริการเอกชน ซึ่งเชื่อว่า ข้อมูลลับมีไม่ถึง 1 ใน 4 ส่วน อีกทั้ง ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่ใช้ในการวิเคราะห์ ก็มาจากรายงานของ กสทช. แล้วเหตุผลใดจึงต้องปิดบัง

“องค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. มีอำนาจอยู่ สามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ ส่วนกรอบเวลาตามประกาศปี 2561 ในการควบรวมกิจการ ไม่ชัดเจนว่า กสทช. ควรเร่งรีบการพิจารณาให้จบเมื่อไหร่ ระบุเพียงว่า ผู้ประกอบการที่อยากควบรวมจะต้องแจ้งรายงานกับ กสทช.ภายใน 90 วัน ก่อนดำเนินการ ซึ่งเป็นข้อดี เพราะ กสทช.ชุดใหม่ ซึ่งเริ่มทำงานได้เพียง 1 เดือน จึงอยากให้มีพื้นที่ มีเวลาในการศึกษาข้อมูลรอบด้าน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image