ถกเดือด! ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ นักวิชาการเปิดผลศึกษา ลูกค้าเสี่ยงจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 120%

ถกเดือด! โฟกัสกรุ๊ปควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ นักวิชาการเปิดผลศึกษา ลูกค้าเสี่ยงจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 120%

เมื่อวันที่​ 26 พฤษภาคม​ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป​) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธพลเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อึ้งทั้งวงการ! ‘ทรู-ดีแทค’​ เทโฟกัสกรุ๊ปควบรวม อ้างเวทีไม่เป็นกลาง

ด้าน นายศรันย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า การควบรวมจะทำให้เกิดผลกระทบ 3 ด้าน ทั้งด้านราคา การบริการ และ คุณภาพสัญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพสัญญาณนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องหมั่นขยายช่องสัญญาณ และตรวจสอบคุณภาพสัญญาณเป็นประจำทุกเดือน หากในพื้นที่ใดผู้ให้บริการไม่ได้ดูแลตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ สัญญาณในบริเวณนั้นที่เคยดีก็จะใช้งานติดขัด และส่งผลกระทบถึงบริการที่ไม่มีเครือข่ายไร้สายของตัวเอง (MVNO) และบริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ (OTT) ทั้งหมดที่ใช้งานอยู่บนโครงข่ายนั้น ผู้ใช้บริการจึงควรมีทางเลือกในการย้ายค่ายไปใช้ค่ายที่สัญญาณดีกว่าในบริเวณนั้น การควบรวมธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหญ่จึงเป็นการลดทางเลือกของผู้ใช้บริการในเรื่องนี้ ถึงแม้จะเพิ่ม MVNO เข้ามาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

นายศรันย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 รายมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการที่มีโปรโมชั่นทุกวัน บริษัทเชื่อว่าหากมีการควบรวมธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหญ่ ตลาดมือถือก็จะยังมีการออกโปรโมชั่นเพื่อช่วงชิงลูกค้ากันต่อไป แต่อาจจะไม่ได้มีโปรโมชั่นทุกวันเหมือนกับในปัจจุบัน เนื่องจากมีการแข่งขันน้อยลง การอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ควบรวมธุรกิจกัน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย (Oligopoly) อยู่แล้ว

Advertisement

เป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันเพียง 2 ราย (Duopoly) ที่ควบคุมส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีก เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งสองรายแข็งแรงมาก และทรัพยากรคลื่นความถี่ก็ถูกจับจองไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่ผู้เล่นรายใหม่จะสามารถแทรกตัวเข้ามาในตลาดและเติบโตขึ้นมาในระดับที่แข่งขันกับผู้เล่นทั้งสองรายได้อีก

“กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปล่อยให้ตลาดโทรคมนาคมปรับตัวเข้าสู่ Duopoly หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้เกิดการควบรวมแล้ว ไม่ว่าจะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตาม ก็ไม่สามารถเยียวยา หรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันก่อนการยินยอมให้ควบรวมได้” นายศรันย์กล่าว

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB

ขณะที่ นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากการคำนวณดัชนีการกระจุกตัว (HHI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าตลาดกระจุกตัวกับผู้ประกอบการรายใหญ่มากขนาดไหน พบว่า ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน แบ่งเป็น เอไอเอส 46.8% ทรู 32.5% ดีแทค 17.8% และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที 2.8% ดังนั้น หลังควบรวมกิจการ ส่วนแบ่งตลาดหลังควบรวมทรู-ดีแทค จะอยู่ที่ 50.4% จากดัชนีการกระจุกตัว HHI ปัจจุบันอยู่ที่ 3,578 จะเพิ่มขึ้น 32.4% เป็น 4,737

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดอินเตอร์เน็ตมือถือ ปัจจุบันดัชนีการกระจุกตัว HHI อยู่ที่ 3,556 จะเพิ่มขึ้น 35.6% เป็น 4,823 แบ่งเป็น เอไอเอส 46.8% ทรู 30.4% ดีแทค 20.8% และเอ็นที 1.9% ซึ่งจะนำผู้ให้บริการ MVNO มาคำนวณร่วมหรือไม่ ผลที่ออกมาไม่แตกต่างกัน เพราะมีผู้ให้บริการเพียง 5 ราย รวม 40,000 เลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 0.03% ทั้งนี้ ไม่นำผู้ให้บริการ OTT มาคำนวณ เพราะแตกต่างจากบริการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตมือถือ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน

หลังนำแบบจำลองไปคำนวณการควบรวมกิจการ พบว่า ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาท/เดือน มากกว่าการประหยัดต้นทุน เฉลี่ยรวมอยู่ที่ประมาณ 220 บาท/เลขหมาย/เดือน

แต่หลังควบรวมกิจการ แบ่งเป็น 3 กรณีคือ 1.รายใหญ่แข่งขันรุนแรง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 7-10% หรือ 235-242 บาท 2.รายใหญ่แข่งขันกันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% หรือ 249-270 บาท และ 3.รายใหญ่ฮั้วกัน ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 365-480 บาท หรือ 66-120%

ขณะที่ นักวิเคราะห์การเงินมองว่า หลังควบรวมกิจการจะช่วยลดต้นทุน/เลขหมาย/เดือน ให้กับผู้ประกอบการที่ 4-7 บาท หรือ 2.0-3.6% คิดเป็นมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท/ปี และในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท/ปี

“ราคาค่าบริการที่ต้องจ่ายจริง ไม่ใช่ราคาเฉลี่ยที่ผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าๆ กัน มีหลายท่าในการปรับขึ้นค่าบริการ อาทิ ค่าเฉลี่ยแพงขึ้น ค่าบริการ/แพคเกจขั้นต่ำแพงขึ้น ราคาลดลงน้อยกว่าต้นทุน รวมถึงคุณภาพแย่ลง” นายฉัตรกล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคายังเป็นไปได้ว่า แม้จะมีการกำกับราคา กสทช. แต่ปัจจุบันเพดานสูงกว่าราคาที่เป็นอยู่ในตลาด ประมาณ 10-20% โดยราคาค่าบริการนี้ เกิดจากการแข่งขัน ไม่ได้เกิดจากเพดานราคา ดังนั้น หากการแข่งขันหายไป มีความเป็นไปได้ ราคาจะกลับไปสู่เพดาน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกผู้ประกอบการ นอกจากนี้ เพดานราคายังมีความท้าทาย คือ การคำนวณราคาเพดานจากต้นทุนรายงานโดยผู้ประกอบการ แนวโน้มต้นทุนลดลงรวดเร็ว จนไม่รู้ว่าเพดานราคาที่เหมาะสมอยู่ที่เท่าไร และกำกับราคาโดยนำแพคเกจมาหารเฉลี่ย

นายฉัตรกล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ทำได้ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค คือ กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับการควบรวมเต็มที่ ทั้งตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ตามข้อ 5(1) ระบุว่า การรวบธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุม นิติบุคคลใหม่ต้องรายงาน กสทช. แต่ขณะที่ ข้อ 9 การรายงานตามข้อ 5 เป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดฯ ปี 2549 ข้อ 8 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า หาก กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีการลดการแข่งขัน จำกัดการแข่งขัน หรือเกิดการผูกขาด สามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะ

ขณะเดียวกัน การควบรวมกิจการครั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. ปี 2561 เข้าเกณฑ์ที่ กสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไขเฉพาะเนื่องจากดัชนีการกระจุกตัว HHI สูงกว่า 2500 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเกิน 100 เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ และมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“กสทช.สามารถทำอะไรก็ได้ที่เห็นควร ตั้งแต่จะไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ หรืออนุญาตโดยกำหนดมาตรการเฉพาะทั้ง เชิงโครงสร้าง อาทิ ขายกิจการ-สินทรัพย์บางส่วน และเชิงพฤติกรรม เช่น คุมราคา คุณภาพ การทำธุรกิจ เป็นต้น รวมถึงให้อนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข” นายฉัตรกล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ดำเนินการ 4 ด้านสำคัญ ต่อกรณีการควบรวมกิจการนี้ ได้แก่ 1.ทำข้อเสนอถึง กสทช. ชุดเดิม เพื่อขอให้ไม่พิจารณาควบรวมกิจการทรู-ดีแทค เนื่องจากอยู่ระหว่างการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ 2.สภาองค์กรของผู้บริโภคมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ กสทช. ถึงการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนาเรื่องการควบรวมกิจการนี้ 2 ครั้ง

โดยครั้งแรกมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย เข้าร่วม ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมกิจการ และครั้งที่ 2 เชิญ 4 พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค เข้าร่วม โดย 3 พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้

3.กำหนดมาตรการ ให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายเป็นของตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุน รวมถึงผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และ 4.จากการประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคเมื่อวันที่ 25 มีนาคม มีความชัดเจนว่า ไม่เห็นเช่นกัน เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ ประกอบด้วย ขัดต่อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ, ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของ กสทช.ที่กำหนดไว้ชัดเจนให้ กสทช. กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

รวมถึง ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิการเลือกหาสินค้าและบริการ เพราะการควบรวมกิจการเป็นการลดสิทธิของผู้บริโภค และขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เพราะทำให้มีอำนาจเหนือตลาด เข้าข่ายงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท อย่างชัดเจน

“เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ กสทช. มีงบในการบริหารงานต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการช่วยเหลือแน่นอน จึงสนับสนุนให้ กสทช. ไม่เห็นชอบการควบรวมครั้งนี้ เพื่อให้มีผู้บริการเพิ่มขึ้น แข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้เราไม่มีทางออกในเรื่องนี้เลย” น.ส.สารีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image