‘สภาพัฒน์’ ชี้ไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องปรับตัว ลดความขัดแย้ง ชูแผนใหม่ฝ่าวิกฤต

‘สภาพัฒน์’ ชี้ไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องปรับตัว ลดความขัดแย้ง ชูแผนใหม่ฝ่าวิกฤต

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ STRONGER THAILAND’ ในงานเสวนา Stronger Bangkok : Stronger Thailand ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ โดยนายดนุชากล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งไทยต้องยืนในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

“ระยะถัดไปเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไทยต้องปรับตัวรอบด้าน และสร้างจุดขายใหม่ๆ มากขึ้น โดยทิศทางที่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรี และได้เห็นชอบแล้วในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมายสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนพัฒนาสามารถทำได้บนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว เช่น นักท่องเที่ยวจะให้ได้ 40 ล้านคนเหมือนเดิมคงยาก ต้องมาเน้นนักเที่ยงเชิงคุณภาพและปรับไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น รวมถึงได้วางแผนระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค เพื่อสร้างจุดเด่น ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น” นายดนุชากล่าว

สำหรับแนวทางในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ใน 13 จุดมุ่งหมายมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลให้มากขึ้น, เปิดประตูการค้าการลงทุนโลจิสติกส์กับหลายประเทศ, พัฒนาการแพทย์แบบครบวงจร, ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, พัฒนาการท่องเที่ยวและเกษตร และเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าจากการผลิตที่มีคุณภาพ

กลุ่มที่ 2 สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ประกอบด้วย เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตต่อเนื่อง, เมืองมีความทันสมัย, ประชาชนมีความยากจนลดลงและความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ

Advertisement

กลุ่มที่ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ประกอบด้วยการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ, ลดความเสี่ยงภัยเกิดจากธรรมชาติ และกลุ่มที่ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย กำลังคนมีสมรรถนะสูง, ภาครัฐมีสมรรถนะสูง สำหรับแง่เศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้นจากฐานโครงสร้างที่ดี แม้แผนจะยังไม่บังคับใช้ แต่ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมในหลายเรื่องแล้ว เพื่อเป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจจะเดินต่อไปข้างหน้า

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ จะประกอบด้วย 1.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน และลำปาง จะยกระดับเป็นพื้นที่ลงทุนและพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืน

2.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย จะลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อมโยงห่วงโซ่การเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ

Advertisement

3.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไฮเทคสู่มาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯโดยรอบ และอีอีซี

และ 4.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับเศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาค สร้างพื้นที่เกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวหลัก รวมถึงการพูดคุยกับนักลงทุนด้านการลงทุนยานยนต์อีวีเข้ามาที่ประเทศไทยมากขึ้น

“รัฐทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในบ้านเรา ขอให้ช่วยลดความขัดแย้งเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปข้างหน้ามากขึ้น และเพื่อให้เราก้าวหน้าไปข้างหน้าด้วยกัน” นายดนุชาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image