ส่อง ‘ซิปเม็กซ์’ อีกกรณีศึกษา ตลาด ‘คริปโทฯ’

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นทางเลือกสุดฮอตที่เหล่านักลงทุนทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจอย่างมาก แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงขาลง แต่ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งช่วงนี้ยังมีนักลงทุนบางคนถือโอกาสช้อนซื้อเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าอนาคตราคาจะปรับขึ้นแน่

แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวไม่คาดฝันขึ้น เมื่อ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ผู้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ออกประกาศระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลของซิปเม็กซ์ ช่วงเย็นวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าอาจกระทบไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่มีอยู่ในตลาดของประเทศไทยด้วย

หลายฝ่ายเริ่มหวาดผวา โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน เป็นห่วงถึงขั้นว่า กรณี ซิปเม็กซ์ อาจเป็นสัญญาณโดมิโนเอฟเฟ็กต์ของภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ร่วงลงรุนแรงและอนาคตอาจพังลงได้

เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย เผยว่า เหตุที่ต้องระงับการถอนเงินบาทและคริปโทเคอร์เรนซีว่าเกิดจากบริษัทประสบปัญหากับตัวผลิตภัณฑ์ ซิปอัพ พลัส (Zipup+) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้นักลงทุนนำเหรียญไปฝากกับ ซิปเม็กซ์ โกลบอล (Zipmex Global) เพื่อจะได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี

Advertisement

แต่เนื่องจากคู่ค้า คือ บาเบลไฟแนนซ์ (Barbel Finance) ที่รับฝากเงิน มูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ และ เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Networks) มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ แปลงเป็นเงินไทยแล้วมีมูลค่ารวมกัน 1.8 พันล้านบาท ทั้งสองเป็นผู้ในบริการทางลงทุนในสินทรัพย์ดิทัลในต่างประเทศ ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก

โดยเซลเซียส เน็ตเวิร์กถึงขั้นประกาศล้มละลาย สะท้อนว่าตอนนี้คงเป็นขาลงของสกุลเงินดิจิทัล ตามที่นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นไว้

เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย

จากเหตุการณ์นี้ บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย จะดำเนินการฟ้องร้องกับทาง ซิปเม็กซ์ โกลบอล บาเบลไฟแนนซ์ และ เซลเซียส เน็ตเวิร์ก เพื่อเรียกคืนสินทรัพย์ดิจิทัลกลับมาให้ลูกค้า และพร้อมจะดำเนินคดีความแบบกลุ่มหากลูกค้าต้องการจะฟ้องร้อง โดยบริษัทจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด หากในกรณีที่การฟ้องร้องไม่เป็นผล จะเจรจาขายบริษัท เพื่อนำเงินคืนให้กับลูกค้า

Advertisement

“ผมในฐานะซีอีโอ และทีมงานของซิปเม็กซ์กำลังดำเนินการสุดความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้หนีไปไหน พร้อมรายงานความคืบหน้า สร้างความโปร่งใส และรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้น” ซีอีโอซิปเม็กซ์ให้คำมั่น

ขณะที่ผู้กำกับดูแลใหญ่อย่างกระทรวงการคลัง ทันทีที่รู้ข่าวก็ไม่นิ่งนอนใจ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียก น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาชี้แจงรายละเอียดกรณีดังกล่าว และสั่งการให้ ก.ล.ต.จัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาที่กระทรวงการคลังแล้ว

นอกจากนี้ ได้กำชับให้ ก.ล.ต.ไปกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และให้ ก.ล.ต.ไปดูรายละเอียดในเรื่องกฎหมาย กรณี ซิปเม็กซ์ นำเงินฝากของนักลงทุนไปลงทุนต่อในกิจการอื่นว่าผิดข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

“หลังจากรับนโยบายแล้ว ก.ล.ต.เร่งออกประกาศชี้แจ้งให้กับนักลงทุนทันที แต่ในเรื่องรายละเอียดต้องรอรายงานลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงความเป็นห่วงในกรณีนี้ และติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมสอบถามความคืบหน้ากับ ก.ล.ต.เป็นระยะๆ” ปลัดคลังให้ข้อมูล

ด้านหน่วยงานกำกับหลัก อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำโดย น.ส.รื่นวดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ได้ประชุมหารือร่วมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)

ข้อสรุปเบื้องต้น ก.ล.ต.จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพราะกรณีดังกล่าวอาจมีความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับต้องพิจารณาว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากความผิดภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ที่ ก.ล.ต.มีอำนาจดำเนินการในฐานะผู้กำกับดูแล

ในวันเดียวกัน กลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจากบริษัทซิปเม็กซ์ ได้นัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเร่งคลี่คลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ทำให้ถอนเหรียญ บิตคอยน์ อีเธอเรียม USDT และ USDC ไม่ได้ นักลงทุนบางส่วนจึงได้รับความเสียหาย

ภัทรเศรษฐ์ พรหมสวัสดิ์ หนึ่งในผู้เสียหาย ให้ข้อมูลว่า ให้โอกาสบริษัทจึงยังไม่ฟ้องร้อง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ แต่อยากได้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แม้จะขาดความเชื่อมั่นต่อบริษัทแล้วก็ตาม

“ยอมรับว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การที่เลือกลงทุนกับบริษัทของไทย เพราะมี ก.ล.ต.รับรองอยู่ จึงคิดว่าติดต่อสื่อสารได้ง่าย และมีการตลาดดี แต่เมื่อบริษัทแม่ล้มละลาย บริษัทไทยก็ไม่ควรหายไปด้วย”

ขณะนี้เกิดค่าเสียหายรวมกว่า 300 ล้านบาท จาก 500 บัญชี คาดการณ์ว่ามีผู้เสียหายเกิน 10,000 คน เบื้องต้นบริษัทได้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือแล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เป้าหมายหลักคือต้องการให้บริษัทคลายล็อกทรัพย์สินคืนให้แก่ลูกค้า เพื่อระงับความเสียหาย และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

กลุ่มผู้เสียหาย “ซิปเม็ก (Zipmex)” เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อแจ้งความฟ้องร้องค่าเสียหาย

ด้าน นเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ให้ความเห็นว่า การให้ซิปเม็กซ์ประเทศไทยเป็นทางผ่านการลงทุนเพื่อให้ไปกู้ต่อ เหมือนเป็นช่องโหว่ของกฎระเบียบของ ก.ล.ต.

ส่วนนักลงทุนรู้เงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่นั้น ก็มีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ เพราะเมื่อดูจากรายละเอียดการสมัครไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะเอาไปลงทุนในส่วนไหน หรือเขียนในลักษณะคลุมๆ ไว้ว่าให้นักลงทุนรับความเสี่ยงให้ได้ และเมื่อตลาดถึงคราวขาลง จะได้เห็นสิ่งสกปรกที่ซุกอยู่ได้พรม แต่ตอนที่ตลาดเฟื่องฟูไม่มีใครสังเกตความผิดปกติ ยิ่งผลตอบแทนสูงก็ยิ่งเย้ายวนใจ ทำให้ขาดสติในการลงทุนไปบ้าง

“สิ่งที่ต้องรู้ไว้คือ ข้อแรกอย่านำเงินที่มีทั้งหมดไปลงทุนในคริปโทฯ แนะนำสำหรับมือใหม่ที่ไม่ค่อยชำนาญ อย่าลงเงินเล่นคริปโทฯเกิน 30% ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนกับกองทุน ทองคำ หรือซื้อที่ดิน และในการเล่นคริปโทฯ อย่าเล่นแค่แพลตฟอร์มเดียว

“รวมถึงต้องคิดเสมอว่าในการลงทุนยิ่งผลตอบแทนเยอะยิ่งมีความเสี่ยง ไม่มีของฟรีต้องมีอะไรแลกกลับไป ทางสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เตรียมหารือกันว่าต้องมีบุคคลที่ 3 เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ เพื่อตรวจสอบให้รู้ว่าเงินของลูกค้าอยู่ตรงไหนกันแน่” เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยแนะนำ

จับตากันต่อไปว่า เรื่องนี้สร้างความสะเทือนต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร และเป็นบทเรียนในการบริหารจัดการระบบการเงินในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image