แบงก์ชาติ เผย ศก.โตต่อเนื่อง หลังนทท.แห่เข้าไทยเดือน มิ.ย. 7 แสนคน

แบงก์ชาติ เผย ศก.โตต่อเนื่อง หลังนทท.แห่เข้าไทยเดือน มิ.ย. 7 แสนคน

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน และเมื่อนำเศรษฐกิจไตรมาส 2/2565 เทียบกับเศรษฐกิจไตรมาส 1/2565 ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวทำให้ภาคบริการยังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเดือนมิถุนายนสูงถึง 767,500 คน ส่งผลให้ 6 เดือนแรกปี 2565 ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว

ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนส่งผลให้การส่งออกลดลงเล็กน้อยที่ 11.1% ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 11.3% ซึ่งหมวดสินค้าปรับลดลงมาจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์นั่ง นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสปรับดีขึ้นจากระดับ 2.7% ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัว เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน เห็นได้จากรายจ่ายประจำที่ขยายตัวตามการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อนำมาใช้จ่ายแก้ปัญหาโควิดช่วงที่ผ่านมา โดยรายงานลงทุนรัฐบาลกลางหดตัว 7.7% และรายงานลงทุนของรัฐวิสาหกิจปรับเพิ่มขึ้น 41.5% มีการเบิกจ่ายได้ดีตามโครงการของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

 

Advertisement

นอกจากนี้ แนวโน้มเดือนกรกฎาคมคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงรัฐได้ดำเนินการมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเรื่องบริโภคค่อนข้างดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับวงเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนว่าจะช่วยเหลือเศรษฐกิจได้มากน้อยอย่างไร นอกจากนี้ระยะต่อไปยังมีปัจัยต้องติดตาม 1.การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2.อุปสงค์ต่างประเทศที่อาจชะลอตัว และ 3.การแพร่ระบาดโควิด และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ได้ประกาศตัวเลยออกมาก่อน และทาง ธปท.จะรวบรวมข้อมูลตัวชีวัดด้านต่างๆ มาประกอบเป็นข้อมูล เพื่อดูทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า แม้ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยเดือนมิถุนายนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนที่ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลักๆ ปรับดีขึ้นจากเรื่องดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง โดยสำหรับดุลรายได้ขาดดุลลดลงจากการส่งกลับกำไรเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติทยอยลดลง ดุลบริการขาดดุลลดลงจากรายรับที่นักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศมากขึ้น หากมองทั้งไตรมาส 2/2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วยปัจจัยสกุลเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยนักลงทุนปรับลดความเสี่ยงของการลงทุน Risk-on Sentiment หลักจากธนาคารกลางประเทศหลักดำเนินการนโยบายการเงินเข้มงวดที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนมิถุนายน ทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่ากว่าสกุลเงินประเทศคู่ค้าเดือนมิถุนายน ซึ่งเทรนด์เรื่องดูจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคมยังอ่อนค่าตามเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่า นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่อนข้างเยอะหากเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคส่วนหนึ่งมาจากมุมมองเศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวช้าหลังจากล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งไทยผูกเศรษฐกิจกับจีนมากพอสมควรอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนเร่งขึ้นมากถึง 7.6% จาก 7.0%เดือนก่อน หลักๆ มาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากต้นทุนประกอบอาหารที่อยู่ระดับสูงขึ้น บางส่วนมาจากราคาค่าการศึกษา รวมถึงค่าโดยสารปรับตัวขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงสูง

ทั้งนี้ สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภาพรวมตลาดการเงินโลกโดยนักลงทุนมีความกังวลเรื่องของความเสี่ยง นอกจากดอกเบี้ยสูงขึ้นก็มีเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนจึงปรับตัวเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายตามมุมมองเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนอาจทยอยออกจากตลากการลงทุนที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง หรือตลาดเกิดใหม่เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เป็นเทรนด์ที่เห็นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว

“อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่น่ากังวล หากความเสี่ยงตลาดโลกยังคงมีอยู่น่าจะเห็นเทรนด์ที่เห็นได้อยู่บ้างในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน หากมีความเสี่ยงระยะยาวก็เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะวิ่งเข้าสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่า”นางสาวชญาวดีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image