‘สภาฯผู้บริโภค’ ถกเดือด ดีล ‘ทรู-ดีแทค’ ซ้ำชะตากรรมผู้บริโภค หาเงิน-จ่ายค่าโทรแพงขึ้น 120%

‘สภาฯผู้บริโภค’ ถกเดือด ดีล ‘ทรู-ดีแทค’ ซ้ำชะตากรรมผู้บริโภค ทำงาน-หาเงิน-จ่ายค่าโทรแพงขึ้น 120% จี้ ‘กสทช.’ กำกับ หวั่นผูกขาดซ้ำค้าปลีก

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดงานเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.3 หัวข้อชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ โคแฟคประเทศไทย เสวนากรณีผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมของทรู-ดีแทค และเอไอเอส ประกาศควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ตบ้าน กับทรีบรอดแบนด์ (3BB) ว่าประชาชนอาจได้รับผลกระทบหากเกิดการควบรวม โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) มีภารกิจคือการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาดคลื่นความถี่

ทั้งนี้ เครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อบอร์ด กสทช. ค้ดค้านควบรวม ทรู-ดีแทค พร้อมจำนวนผู้เข้าชื่อค้ดค้านจาก Change.org ในที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 08.30 น. ณ สำนักงาน กสทช.

นางสาวสุภิญญากล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่หลัก 3 รายหลักที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค ดังนั้น ยุคการแข่งขันเสรีเปิดแล้ว กสทช.ควรเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากกว่าปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจ หากตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงแค่ 2 ราย ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก ขณะที่การศึกษางานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นผลกระทบเรื่องราคาค่าบริการสูงเป็นภาระของผู้บริโภคในยุคที่ทุกคนใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น กสทช.ต้องปลดล็อกปัญหานี้ให้ได้ ด้วยมีอำนาจลงมติจะให้เกิดการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคหรือไม่ รวมถึงกรณีเอไอเอสกับ 3BB ด้วย

Advertisement
“ทั้งสองกรณีนี้หากเกิดขึ้นจะเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค กสทช.ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการลงมติคัดค้าน ไม่เห็นด้วยการควบรวม หาก กสทช.ลงมติไปแล้ว และเอกชนไม่เห็นด้วยให้ไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าดีลนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ วันนี้ กสทช.ต้องทำหน้าที่ของตัวเองก่อน” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมทรู-ดีแทค  กสทช. มีอำนาจ ทั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 ที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ดังนั้น ตรงนี้ถือเป็นอำนาจโดยตรงของ กสทช. รวมถึงการสั่งห้ามการควบรวมกิจการด้วย

“สภาองค์กรของผู้บริโภคให้กำลังใจ กสทช.ขอให้ตัดสินใจโดยยืนเคียงข้างผู้บริโภค และไม่อยากเห็นรัฐบาล หรือกลไกของรัฐใดๆ เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของ กสทช. ทั้งนี้ แม้ข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯแต่ละด้าน จะไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่โดยหลักแล้ว กสทช. ควรจะเปิดเผยรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้เป็นมาตรฐานของ กสทช. ที่มีการลงมติ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด” นางสาวสารี กล่าว

นางสาวสารีกล่าวว่า ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากผลกระทบจะส่งผลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการแพงขึ้น จากการศึกษางานวิจัย โดยแบ่งออกเป็นกรณี 1.ไม่เกิดการแข่งขันในตลาด เหลือผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ 2 ราย ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิมถึง 120% 2.หากมีการแข่งขันตามปกติ ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิม 13-23% และ 3.หากมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิมประมาณ 7-10% ถ้าปัญหาเกิดขึ้นจริง กสทช.จะจัดการอย่างไร หากให้มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น และเมื่อทรู-ดีแทคทำได้ เอไอเอสกับ 3BB ก็ย่อมทำได้เช่นกัน

Advertisement

ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงการควบรวมกิจการว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภค ไม่เฉพาะลูกค้าของผู้ให้บริการทั้ง 2 รายเท่านั้น แต่ด้วยการแข่งขันทางการค้าที่หายไป แปลว่าทุกคนในประเทศนี้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งพิจารณาจากผลทดลองแบบจำลองทางสถิติ พบว่า หากมีการควบรวมกิจการแล้ว ตลาดยังมีการแข่งขันที่รุนแรง ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 10% แต่หากมีการแข่งขันตามปกติ ซึ่ง 2 รายมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 50% ทั้งคู่ ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% สุดท้ายหากตลาดไม่มีการแข่งขันกันเลย เกิดการฮั้วกันเกิดขึ้น จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

นายฉัตร กล่าวว่า สำหรับคำว่าราคาขึ้นสามารถออกมาได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งราคาขึ้น ไม่ได้แปลว่าต้องขึ้นราคาค่าบริการอย่างเดียว ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายนั้น ผู้ให้บริการอาจมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาโดยเฉลี่ย หรืออาจไปขึ้นราคาสำหรับกลุ่มคนที่ใช้งานเยอะ อาจออกมาในรูปแบบกำหนดขั้นต่ำในการเติมเงิน เช่น ปัจจุบันเติมเงิน 20 บาทก็ใช้งานได้ อนาคตอาจต้องเติมเงินมากกว่านั้น ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาโครงข่าย คุณภาพของสัญญาณอาจจะแย่ลงได้

“วันที่ 3 สิงหาคม กสทช. จะได้รับรายงาน การศึกษาผลกระทบของการควบรวมกิจการจาก สำนักงาน กสทช. จึงอยากให้เปิดเผยรายงานทั้งหมด ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ หากมีข้อมูลส่วนไหนที่เป็นความลับทางธุรกิจ จะปกปิดก็ทำได้ แต่อย่างน้อย อยากจะเห็นความคิดเห็นของที่ปรึกษาว่า มีข้อคิดเห็นอย่างไร และอยากให้เปิดเผยออกสู่สาธารณะชนมากที่สุด แบบที่เปิดเผยแล้วไม่โดนฟ้อง” นายฉัตร กล่าว

ขณะที่ นายเมธา  มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการเหตุผลคือไม่อยากให้เกิดการผูกขาดตลาดในทุกธุรกิจ เพราะที่ผ่านมามีกรณีเทสโก้โลตัส กับเครือซีพี สังคมไทยก็ผิดหวังกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามาแล้ว ซึ่งการมีผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ หากมีหลายเจ้ายิ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะเกิดการแข่งขัน ทั้งเรื่องราคา และการพัฒนาโครงข่าย ดังนั้น การควบรวมทรู-ดีแทคจะเป็นปฐมบทให้เห็นภาพว่า  ไทยจะมีตลาดในอนาคตแค่ 2 ราย ซึ่งไม่ถือเป็นการแข่งขัน ผลกระทบจะตกอยู่กับผู้บริโภคแน่นอน

นายเมธากล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะที่ไม่ควรถูกเอกชนเอาไปซื้อขาย หรือครอบครอง แต่ควรเป็นของรัฐ โดยให้รัฐจัดเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ การที่ประชาชนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทำให้คนได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล เหมือนในยุโรปหลายประเทศมี Wi Fi ในพื้นที่สาธารณะ และแทบจะทุกแห่ง แต่ไทยไม่มี ประเทศไทยเดินผิดทางปล่อยให้เอกชนเข้าหากำไรกับเรื่องเหล่านี้

ด้าน นายวรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการคณะกรรมการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตการควบรวมกิจการครั้งนี้ เพราะมีข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าหากเกิดการควบรวมจะทำให้ค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งขัน หรือดัชนี HHI เพิ่มสูงขึ้น จาก 3,000 เป็น 5,000 นำไปสู่การผูกขาด เพราะมีการแข่งในตลาดน้อยราย ขณะที่ผลการศึกษาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในต่างประเทศก็พบมีแนวโน้มทำให้ค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการบริการก็ลดลงตามมา เพราะไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขัน

ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า นี่คือโค้งสุดท้ายของการตัดสินใจของ กสทช.ในการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติให้มีการควบรวมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญต่อประเทศ ประการแรกเรื่องของผลประโยชน์มีมูลค่ามหาศาล หากย้อนกลับไปวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 มีการประกาศดีลทรู-ดีแทคออกมาครั้งแรก ก็ทำให้หุ้นทรูอยู่ระดับ 4.2 บาทต่อหุ้น วันรุ่นขึ้นราคาปรับขึ้นเป็น 4.8 บาทต่อหุ้น รวมถึงมูลค่าตลาดของทรูเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาท เป็น 1.6 ล้านบาทเป็นราคาโดยประมาณ ดังนั้น ข่าวนี้ข่าวเดียวผู้ถือหุ้นของทรูรวยขึ้นแล้ว 2 หมื่นล้านบาท แม้ยังไม่เกิดการควบรวมกิจการ

นอกจากนี้ ผลจะกระทบต่อผู้บริโภคแล้ว มองไปข้างหน้าผลกระทบต่อประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอนาคตข้างหน้าไม่สามารหลีกหนีการเข้ามาของดิจิทัลอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้ เมื่อย้อนไปดูในภาคการเงินการธนาคารมีการปิดสาขาหน้าร้านทยอยปิดตัวลง เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่ไปทำธุรกรรมทางการเงินน้อยลง และหันไปทำธุรกรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น มองในภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาให้หุ่นยนต์คุยกับเครื่องจักร มีการใช้เดต้า หรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประมวลผล และเข้ามาบริหารจัดการเครื่องจักรต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อนาคตต้องใช้เดต้าทั้งนั้น และเยาวชนที่กำลังเติบโต ซึ่งวิธีการเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่สุดไม่ใช่การสอน แต่บอกวิธีกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอยู่บนอินเตอร์เน็ต และเป็นช่องทางการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

ดังนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตมันตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญ คือ ความเร็ว ราคา เสถียรภาพของโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจในอนาคต ปัญหาคือต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ด้วยการแข่งขัน หากการแข่งขันลดลงสิ่งที่จะตอบสนองผู้บริโภคจะน้อยลง การลงทุนไม่เพิ่มขึ้น การพัฒนาเครือข่ายจะหายไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เสถียรภาพของระบบนั้นอยู่ได้  ดังนั้น ในทุกอุตสาหกรรมหากมีการแข่งขันทุกอย่างจะเดินก้าวหน้ามากขึ้น

หน้าที่กำกับดูแลของ กสทช.ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในทุกธุรกิจ โดยต้องมีผู้แข่งขันที่พร้อมการลงทุนและอยากทำธุรกิจจากนวัตกรรม และ 2.ปกป้องผู้บริโภค โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการตัดสินใจก็มี 4 กรณี 1.ควบรวมแบบไม่มีเงื่อนไง 2.ควบรวมแบบมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการกำกับพฤติกรรม 3.ควบรวมแบบมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนโครงสร้าง และ 4.ไม่อนุญาตให้มีการควบรวม แต่การควบรวมแบบมีเงื่อนไขมีกลยุทธ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งความเสี่ยงน้อยสุดคือการไม่ควบอนุญาตให้เกิดการควบรวม

“ทุนนิยมไทยแบบไหนที่อยากเห็น อยากเห็นทุนนิยมที่คนร่ำรวยในประเทศนี้ ร่ำรวยได้เพราะการผูกขาด การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การเอารัดเอาเปรียบคนจน หรืออยากเห็นทุนนิยมที่ระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขัน มีนวัตกรรม และดอกผลการพัฒนาประเทศถูกกระจายอย่างมั่นคงในประเทศ” นายธนาธร กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image