อดีต กสทช. ชี้ไม่ว่าดีลไหน ต้องผ่านมือ กสทช. ลั่น พร้อมไฟเขียวให้เถ้าแก่ทุกเจ้า

อดีต กสทช. ชี้ไม่ว่าดีลไหน ต้องผ่านมือ กสทช. ลั่น พร้อมไฟเขียวให้เถ้าแก่ทุกเจ้า

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand ถึงกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เทคโอเวอร์ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ว่า

จากหนังสือที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ยืนยันว่า จะต้องมีการขออนุญาต กสทช.ก่อน หากได้รับอนุญาตจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยใช้ประกาศฉบับเดียวกันกับการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แต่แตกต่างกันตรงที่ทรูและดีแทคเป็นการควบรวมบริษัทแม่ แต่เอไอเอส และ 3BB เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งคู่ ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการที่มีลักษณะถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันแบบตรงไปตรงมา

กรณีเอไอเอสซื้อกิจการ 3BB มีความชัดเจนทางด้านกฎหมายมากกว่า เนื่องจากเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน และไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่ และไม่เกี่ยวกับบริษัทลูกใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้ง จะมีการพิจารณาตามข้อมูลและกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ใช้บริษัทลูกซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เพื่อควบรวมบริษัทแม่ ซึ่งไม่ได้ถือครองใบอนุญาต ซึ่งถามว่า ถ้าควบบริษัทแม่แล้วจะควบบริษัทลูกหรือไม่ ทั้งคู่ตอบชัดเจนหลังเข้าชี้แจงต่อ กสทช. ว่า ไม่สามารถตอบได้ และต้องรอกรรมการบริษัท ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมแล้วเป็นผู้พิจารณา แต่ยอมรับว่า บริษัทลูกจะควบรวมเป็นลำดับถัดไป

Advertisement

“เป็นไปได้ว่ามีเจตนาควบรวมบริษัทลูก เพื่อลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ และลดข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงควบรวมระดับบริษัทแม่ ซึ่งไม่ได้ถือครองใบอนุญาตเพื่อเป็นการคิกออฟ แต่ถึงอย่างไร กสทช. ต้องเป็นผู้พิจารณาการควบรวมกิจการนี้ เพราะการควบรวมกิจการดังกล่าวของบริษัทแม่ ย่อมส่งผลต่อบริษัทลูกด้วย จึงเข้าข่ายตามกฎหมาย” นายประวิทย์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายประวิทย์กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ กสทช. ได้ชี้แจงต่อศาลปกครอง กรณี นายณภัทร วินิจฉัยกุล คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. ยื่นฟ้อง กสทช. เรื่องการแก้ไขประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งระบุว่า ให้รายงานเพื่อทราบเท่านั้น และไม่ต้องอนุญาต ครั้งที่ 1 กสทช. ชี้แจงว่า แม้แต่ประกาศปี 2561 มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะ รวมถึงการห้ามควบรวมด้วย ดังนั้น ประกาศปี 2561 ก็มีอำนาจห้ามควบรวม และในการชี้แจงต่อศาลปกครอง

ส่วนครั้งที่ 2 เพิ่มเติมว่า ในประกาศปี 2561 ตามข้อ 9 ระบุว่า รายงานการรวมธุรกิจให้ถือเป็นการขออนุญาตตามประกาศปี 2549 ระบุว่า การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ในกรณีนี้ ธุรกิจโทรศัพท์มือถือต้องได้รับอนุญาต แปลว่าต้องได้รับอนุญาตทั้ง 2 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ชี้แจงต่อศาลปกครอง ซึ่งมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ขณะเดียวกันจะสามารถตั้งเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ โดยยึดตามประกาศที่ระบุว่า สามารถดำเนินการได้

นายประวิทย์กล่าวว่า สำหรับทรูและดีแทค ได้ต่อสู้ด้วยการใช้ข้อกฎหมาย กรณีการควบรวมที่ผ่านมา เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ก็ไม่ได้เป็นการขออนุญาต แต่เป็นการรับทราบ ซึ่ง กสทช.ชุดเดิมที่พิจารณาให้ผ่านถือเป็นต่อสู้ เป็นเทคนิคทางกฎหมาย ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

แต่แตกต่างจากกรณีของเอไอเอส และ 3BB เนื่องจากอยู่ในสถานะที่มีใบอนุญาตถือครองทั้งคู่ ซึ่ง กสทช. มีอำนาจตัดสินใจ และเอไอเอสก็ยอมรับในหนังสือที่เสนอต่อตลอดหลักทรัพย์ และที่ไม่ได้ต่อสู้ เพราะ 1.อาจเป็นเพราะข้อกฎหมายตรงไปตรงมา 2.เป็นการวางกรอบให้ กสทช.ว่า ควรจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณี อาจเรียกได้ว่า เป็นเกมชิงที่ 1 ซึ่งอาจกระทบกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพื่อเป็นตัวอย่างทางกฎหมาย และกระทบครั้งที่ 2 คือทุกคนต้องกลับสู่การขออนุญาต ซึ่ง กสทช. จะไม่อนุญาต หรือตั้งเงื่อนไขเฉพาะ

นอกจากนี้ ต้องวิเคราะห์ถึงความจำเป็นในการควบรวม หรือการซื้อกิจการว่า ใครมีความจำเป็นมากกว่ากัน ซึ่งผู้ที่จำเป็นน้อยกว่าอาจจะเดือดร้อนน้อยกว่า ซึ่งความจำเป็นนั้น ทางธุรกิจวัดกันว่า ถ้าไม่ควบรวม หรือไม่ซื้อกิจการ จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ หากสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้แบบไม่มีปัญหา ก็มีความจำเป็นน้อย หากกระเสือกกระสนมากก็จำเป็นมาก

อย่างไรก็ตาม ตลอด 6 ปีผ่านมา เอไอเอสใช้กลยุทธ์ด้านราคา จนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้ 10% ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพียงแต่ไม่สามารถก้าวข้าม 3 อันดับแรกไปได้ จึงใช้ทางลัดในการเข้าซื้อกิจการเพื่อกระโดดขึ้นไปสู่ 3 อันดับแรก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ สงครามด้านราคาน่าจะลดลง หรือหายไป

ขณะที่ 3BB ยังมีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างสูง และผลประกอบการยังพอไปได้ แม้ระยะหลังอาจติดลบบ้าง เพราะบริการเดิมถูกสงครามราคาทำให้การตลาดขยายฐานลำบากขึ้น ทำให้ลูกค้าไหลออก และผลประกอบการลดลง

“การควบรวมสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบ เช่น กำหนดนิยามตลาด และแบบจำลอง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดของผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงผลกระทบต่อประเทศ หากเกิดผลกระทบรุนแรงจะไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม แต่หากไม่รุนแรงจะมีการออกเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะไม่ว่าจะกรณีควบรวมใดก็ตาม” นายประวิทย์กล่าว

นายประวิทย์กล่าวว่า ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการหาข้อมูล และหารือกับ กสทช. โดยสำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เมื่อยังไม่เห็นเค้าโครงจึงไม่สามารถฟันธงได้ ซึ่งหาก กสทช. หงายไพ่มาว่า ผลกระทบรุนแรง ผลจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าหงายไพ่มาผลกระทบไม่รุนแรงจะเป็นอีกแบบหนึ่ง

“ไม่ว่าจะไฟเขียวให้เถ้าแก่รายไหน กสทช.จะต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาภายใต้กรอบกฎหมาย แม้มีคำขู่ว่าจะฟ้องต่อศาลอาญาเรื่องทุจริต มีคำขู่ฟ้อง ปปช. มีคำขู่จะฟ้องแพ่ง เพื่อหาคนรับผิดชอบความเสียหาย ถ้า กสทช.ไม่ยึดกรอบกฎหมายจะแพ้คดี ดังนั้น ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะไฟเขียวให้เถ้าแก่รายไหน หากทำเช่นนั้นจะติดคุกได้ง่าย” นายประวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image