กทม.สั่งเขตสแกนที่ปลูกกล้วย มะม่วง ชิ่งภาษี ปีหน้า ‘แลนด์ลอร์ด’ อ่วมปล่อยร้างเกิน 3 ปี เก็บเพิ่ม 0.3%

กทม.สั่งเขตสแกนที่ปลูกกล้วย มะม่วง ชิ่งภาษี ปีหน้า ‘แลนด์ลอร์ด’ อ่วมปล่อยร้างเกิน 3 ปี เก็บเพิ่ม 0.3%

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.อยู่ระหว่างสำรวจการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2566 และปีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ ซึ่งได้กำหนดแนวทางให้พนักงานสำรวจดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม โดยขอให้สำนักงานถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ออกหลักเกณฑ์รีเช็กที่ดินรายแปลง

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย 1.เป็นการใช้ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างตามความหมายของคำว่า “ประกอบการเกษตร” มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม แต่ไม่รวมถึงการทำการประมงและการทอผ้า 2.การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมที่มีชนิดพืช ชนิดสัตว์ หรือลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยมีอัตราขั้นต่ำตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วย 200 ต้น/ไร่ มะม่วง 20 ต้น/ไร่

3.พื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม แต่ไม่รวมถึงกรณีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าวหากทับซ้อนกับการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้พื้นที่ทับซ้อนเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังที่ให้สำนักงานเขตพิจารณาด้วย ได้แก่ 1.กรณีมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินหลายประเภท ให้วัดขนาดของที่ดินตามการใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดินใช้ทำการเกษตร และใช้ประโยชน์อื่นๆ รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า 2.การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เช่น สัดส่วนพื้นที่ประกอบการเกษตรต้องเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม

Advertisement

3.ในการสำรวจพนักงานควรถ่ายภาพพื้นที่ที่สำรวจเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการสำรวจ กรณีเจ้าของที่ดินมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท เช่น ใช้ประกอบเกษตรกรรมกับใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบเกษตรกรรมกับใช้ประโยชน์อื่น ใช้ประกอบเกษตรกรรมกับทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

สกัด ‘แลนด์ลอร์ด’ เลี่ยงภาษีแพง

“ที่ผ่านมาพบว่ามีเจ้าของที่ดินได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรมจำนวนมาก เพื่อให้จ่ายภาษีถูกลงในอัตรา 0.01-0.1% ประกอบกับระเบียบของมหาดไทยและคลัง กำหนดเกณฑ์ไว้ไม่ชัดเจน เช่น ปลูกเพื่อบริโภค แต่ย้อนแย้งกับสภาพพื้นที่จริงที่มีการนำกระถางมาตั้งไว้เฉยๆ หรือปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ จึงให้แต่ละเขตตรวจสอบข้อมูลที่ดินให้ชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่ หากผิดก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย เช่น จ่ายภาษีตามเกณฑ์ที่ดินอื่นๆ หรือที่รกร้างว่างเปล่า แต่เจ้าของที่ดินต้องไม่มีเจตนาแจ้งเท็จ เพราะจะมีความผิดทางอาญา” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

ปี’66 ปล่อยที่ดินร้างบวกเพิ่ม 0.3%

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางการเก็บภาษีที่ดินอื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากในปี 2566 ต้องเพิ่มอัตราอีก 0.3% ตามที่กฎหมายกำหนดหากเจ้าของที่ดินไม่มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ภายในกำหนด จะเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีอีก 0.3% ในทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%

ดังนั้น ที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่าตั้งแต่ปี 2563-2565 เดิมคิดอัตราอยู่ที่ 0.3-0.7% ของฐานภาษีที่ประเมินได้ แต่ตั้งแต่ปี 2566 หากที่ดินยังคงไว้ซึ่งสภาพเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อัตราภาษีจะเปลี่ยนไป เช่น จาก 0.3% เปลี่ยนเป็น 0.6% ของฐานภาษีที่ประเมินได้

“อัตราภาษีที่ดินปี 2566 ยังคงอัตราเดิม แต่ในส่วนของภาษีที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่า รอคลังพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราในส่วนที่บวกเพิ่ม 0.3% หรือไม่ เพราะปีหน้าผู้เสียภาษีที่ดินจะมีภาระเพิ่มขึ้น ทั้งราคาประเมินที่ดินจะปรับขึ้น 8% ยังต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 0.3% อยู่ที่คลังว่าจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร คาดว่าปลายปีนี้น่าจะชัดเจน เพราะคลังต้องออกประกาศอัตรา เพื่อให้ท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางการเก็บภาษีของปี 2566 ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

รอ ‘ชัชชาติ’ เคาะภาษีที่ดินรถไฟ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือถึง กทม.เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 เพื่อขอทุเลาและอุทธรณ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2565 ที่ต้องจ่ายเต็ม 100% หลัง กทม.ส่งผลประเมินภาษีเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางที่ รฟท.ต้องชำระประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมที่สำนักงานเขตจัดเก็บอีกนั้น ล่าสุด ได้ทำหนังสือเสนอ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เพื่อขอแนวทางการดำเนินการแล้ว โดยแนวทางที่เสนอคือ ให้ รฟท.จ่าย 18 ล้านบาท เท่ากับปี 2564 ก่อน ส่วนที่เหลือกว่า 180 ล้านบาท ให้ผู้ว่าฯกทม.พิจารณาจะให้ รฟท.ทุเลาได้หรือไม่ เพราะ รฟท.ขอทุเลาการชำระภาษีออกไปจนกว่าจะมีคำอุทธรณ์ออกมาจากคณะกรรมการอุทธรณ์ หลัง รฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า รฟท.เป็นรัฐบาล ควรจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินทั้งหมด เนื่องจากเป็นกิจการของรัฐ

“รฟท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหน้าที่จ่ายภาษีเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ตามกฎหมาย ยกเว้นให้บางส่วน เช่น ส่วนราง แต่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทาง รฟท.จะต้องจ่าย เพราะเป็นเจ้าของที่ดิน” แหล่งข่าวกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image