คิดเห็นแชร์ : ป่าต้นแบบ ปลูกเพื่อลด สู่อนาคตภาคอุตสาหกรรม

ป่าต้นแบบ ปลูกเพื่อลด สู่อนาคตภาคอุตสาหกรรม

คิดเห็นแชร์ : ป่าต้นแบบ ปลูกเพื่อลด สู่อนาคตภาคอุตสาหกรรม

การมุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ Carbon Neutrality ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีความสมดุลกับการดูดกลับ ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์ หรือ Net Zero Emission ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใกล้ชิดทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน ได้ตระหนักถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สังคม เมื่อเร็วๆ นี้เราจึงจัดกิจกรรมปลูกป่าต้นแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Let’s Zero together ปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ที่พัฒนาด้านนวัตกรรมไปพร้อมกับการสร้างสมดุลทางธรรมชาติ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของ กนอ.ที่มุ่งตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน

แนวคิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สิ่งแรกคือ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมระดับองค์กร (CSR Corporate Image) ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สภาพแวดล้อม ด้วยเหตุนี้กิจกรรมปลูกป่าต้นแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้ Theme “Let’s zero together ปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน” จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์คืนสู่ชุมชน ให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า รวมทั้งมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักการ CSR in Process และ CSR after Process อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กนอ.เป็นองค์กรหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และกำกับดูแลการบริหารจัดการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน เราจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมให้เติบโตควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม และชุมชนโดยรอบ ดังนั้น ในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) เราจึงตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHGs 2,500,000 kgCO2e และประกาศเจตนารมณ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero Emission ภายในปี 2568 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)

Advertisement

กนอ.ในฐานะผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุนระหว่างภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ยังประกาศเจตนารมณ์การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ของ กนอ.ภายในปี ค.ศ.2050 (I-EA-T Carbon Neutrality 2050) เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในการขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality 2050 โดยเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบน้อยลง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเพิ่มการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะช่วยลดผลกระทบของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

กิจกรรมปลูกป่าต้นแบบฯในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่นักลงทุน ส่งเสริมให้องค์กรและนักลงทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ผ่านการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมร่วมมือร่วมใจกันลดคาร์บอนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยนอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมรูปแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าเป็นการใช้พลังงานสะอาด การลดการเกิดของเสีย การลดการฝังกลบขยะ ขณะเดียวกัน กนอ.ยังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เข้าสู่การเป็น Carbon Neutrality อีกด้วย

ปัจจุบัน กนอ.ได้เชิญชวนและกระตุ้นให้เอกชนในภาคอุตสาหกรรมหันมาจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการหลายรายที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้นำร่องจัดกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในอนาคต กนอ.จะมีการออกนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

Advertisement

กนอ.คาดหวังว่า กิจกรรมปลูกป่าต้นแบบฯจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีความสมดุลกับการดูดซับหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์ และยังสะท้อนภาพลักษณ์ด้าน CSR ของ กนอ.อย่างชัดเจน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์โดยการปลูกต้นไม้ หรือในอนาคตอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอน ที่ดักจับและกักเก็บโดยตรง เป็นต้น ซึ่งหากเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินได้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน

การดำเนินกิจกรรมปลูกป่าเพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับคาร์บอน นับว่าเป็นกิจกรรมที่ กนอ.ให้ความสำคัญ เพราะเรามองว่าสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นเหมือนครอบครัว ที่เราต้องดูแล รักษา สร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจ ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ และพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่และพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น หากเราสามารถ “ลด” “ชดเชย” และ “ปลูก” ได้ เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยประเทศและโลกของเราให้กลับมาสมดุลอีกครั้งหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image