ถกทางออกแก้จน สกสว.กังวลหนี้ครัวเรือนไทยสูงอันดับ 12 ของโลก

ถกทางออกแก้จน สกสว.กังวลหนี้ครัวเรือนไทยสูงอันดับ 12 ของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เพื่อระดมข้อมูลจากงานวิจัยและประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญนำไปสู่การถอดบทเรียนการแก้หนี้และแก้จน รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจน ตลอดจนถ่ายทอดและสื่อสารประเด็นเหล่านี้สู่สาธารณะ ให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงที่มาของงาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทยว่า รัฐบาล และ หลายหน่วยงานต่างตระหนักถึงวิกฤติหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น เป็น 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก โดย สกสว. ได้จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปัจจุบันได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหนี้สิน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ คือ แผนงาน P11 ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาส และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่

แผนงานนี้ตั้งเป้าจะขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการลดช่องว่างของการเข้าถึงโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานรากภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งยังต้องการข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจน จากการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน อันนำไปสู่นโยบายแก้หนี้และแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้าน ดร.ปิติ ดิษยทัต สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ ข้อสรุปจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จำนวนมากและนานขึ้น แม้แต่วัยเกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือขององค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนานโยบาย เครื่องมือ และกลไกลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน

Advertisement

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวถึงสถานการณ์ความยากจนในพื้นที่ว่า ภาวะการเป็นหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน คนที่ต่ำสุดของพื้นที่ภาวะความจนต่าง ๆ หรือ ความจนซ้ำซาก ความจนข้ามรุ่น แม้แต่ปัจจัยสี่ ที่นำมาใช้ประทังชีวิตในแต่ละวันยังไม่มี บางครั้งบางเหตุการณ์กลายเป็นความเกลียดชัง การแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่จะได้ช่วยกันเสนอถึงทางออก และแนวนโยบายของประเทศว่าจะไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้ประชาชนก้าวข้ามผ่านวาทกรรมความเกลียดชัง วาทกรรมที่บอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นต้นเรื่อง ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน ทั้งที่ เรื่องวัฏจักรความยากจน และหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของเขาเอง ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่เปิดกลไกตลาดเสรีอย่างประเทศไทย เพราะฉะนั้นแล้วแนวทางที่จะช่วยประชาชนได้อย่างดียิ่ง คือ การสร้างความตระหนักรู้ของพื้นที่

 

อ่านข่าวอื่น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image