ผ่าแนวคิด เจ้าพ่อโรงหนังเมเจอร์ “วิชา พูลวรลักษณ์” ฝ่าวิกฤตโควิด “เก่งไม่พอต้องมีเฮง”

ผ่าแนวคิด เจ้าพ่อโรงหนังเมเจอร์ “วิชา พูลวรลักษณ์” ฝ่าวิกฤตโควิด “เก่งไม่พอต้องมีเฮง”

ปี 2563 นับเป็นปีแห่งความมืดมนของธุรกิจโรงหนัง หลังถูกพิษโควิด-19 ซัดหนักลากยาวต่อเนื่อง

แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง “เมจอร์ซีนีเพล็กซ์” ของเจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์” ถึงกับขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี

ทว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้รายได้จะติดตัวแดง แต่ “วิชา” ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ฮึดสู้กลับ (Fight Back) วิกฤตโควิด จนสามารถพลิกรายได้ “เมเจอร์” จากขาดทุน ไต่ทะยานสู่กว่า 7,000 ล้านบาทและกำไร 1,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2565 นี้

พร้อมประกาศปี 2566 รายได้จะกลับมาแตะ 10,000 ล้านบาทเท่ากับปี 2562 ก่อนมีโควิดอีกครั้ง เพราะธุรกิจโรงหนังเลยจุดต่ำสุดมานานแล้ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส4 ที่เป็นไฮซีซั่น เพราะมีหนังฟอร์มยักษ์อย่าง “อวตาร” เข้าฉาย และรอลุ้นว่าจะทำรายได้สักกี่ 100 ล้านบาท

“ปีนี้เราฟื้นตัวแบบวีเชพ รายได้เรากลับมาแล้ว 75% เมื่อเทียบกับปี 2562 ปีหน้าตั้งเป้าจะให้ได้เท่ากับปี 2562 เคยมีรายได้ 10,000 ล้านบาท ตอนนี้รายได้มีจากตั๋วหนัง ป๊อปคอร์น และ มีเดีย ซึ่งมีเดียจากโควิดอาจจะกลับมาช้ากว่าป๊อปคอร์น จากเดิมเคยได้ 1,200 ล้านบาท จบปีนี้น่าจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท ส่วนรายได้ตั๋วหนังขึ้นอยู่กับหนัง “ เจ้าพ่อโรงหนังแจกแจง

Advertisement

พร้อมเผยสเตปต่อไปของเมเจอร์ในปี 2566 วางแพลนไว้ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟและเรียลลิสติก มุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก 1. Customer Experian นำสุดยอดเทคโนโลยีให้ลูกค้าได้รับอรรถรสการชมภาพยนตร์ในโรงแตกต่างจากการดูที่บ้านหรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น ระบบ IMAX โรงหนังรูปแบบ Premium Large Format ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์

2. Thai Movie Content ถือว่าเป็นคีย์ของเราคือสร้างคอนเทนต์หนังไทย ส่วนใหญ่เป็นหนังของเมเจอร์เกือบทั้งหมด ต้องยอมรับว่าสตูดิโอในเมืองไทยอาจจะอ่อนแรง เพราะโควิดทำให้ค่ายหนังอ่อนแรงกันหมด เท่าที่ดูในเอเชียประเทศที่มีโลคอลคอนเทนต์แข็งแรงมีญี่ปุ่น ส่วนอินโดนีเซียตอนนี้ก็แซงเมืองไทย เพราะโปรดิวเซอร์เขาเยอะ มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 50 % ขณะที่ของไทยในปีนี้หนังไทยจะมีส่วนแบ่งตลาด 30% ถือว่าไม่เลวร้าย แต่ก็ไม่ดีอย่างที่คิด ซึ่งธุรกิจมันต้อง Keep fighting (สู้ต่อไป) หยุดนิ่งไม่ได้

Advertisement

สำหรับทิศทางของเมเจอร์ “วิชา” บอกว่า จะผลิตหนังไทยเหมือนเดิม ตั้งเป้าผลิตหนังไทยไม่ต่ำกว่า 10-15 เรื่อง เพราะหนังไทยเป็นที่ต้องการของสตรีมมิ่งทุกเจ้าและอยากจะสร้างหนังไทยให้มีส่วนแบ่งการตลาด 50% โดยให้เข้าฉายปีละ 20 เรื่องหรือเฉลี่ยเดือนละ 2 เรื่อง เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็น King of Content Hub  ซึ่งสิ่งที่เมเจอร์จะโฟกัสคือหนังไทยโดยเฉพาะตลาดเทียร์ 2 หรือเมืองรองเป็นหลัก จะเห็นว่าปีนี้จากโควิด ทำให้กำลังซื้อต่างจังหวัดลดลง เมเจอร์ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคาตั๋วเมืองรองให้ถูกลงมา 30-40% เพื่อให้คนมาดูได้ในราคาถูก โดยเด็กอยู่ที่ 69 บาท และผู้ใหญ่อยู่ที่ 99 บาท

3. ต้องหารายได้จากธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจป๊อปคอร์น ก่อนหน้านี้ขายในโรงหนังเป็นหลัก พอเจอโควิดโรงหนังปิด ยังมีพนักงานเหลืออยู่ จึงขายผ่านช่องทางอื่น ทำเดลิเวอรี่บ้าง ทำไปทำมา จากขายได้วันละไม่กี่ 10,000 บาท วันนี้เดือนหนึ่งมีรายได้กว่า 20 ล้านบาทเฉพาะเดลิเวอรี่อย่างเดียว เชื่อว่าป๊อปคอร์นจะเป็นธุรกิจที่มี potential (ศักยภาพ)ที่สูงมาก

“จากสิ่งที่เราไม่เคยทำ สิ่งที่เราไม่เคยมองเลย วันนี้ก็เกิดเป็นนิวบิสซิเนสขึ้นมา ซึ่งป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะบิวด์ให้สัดส่วนของป๊อปคอร์นเมื่อเทียบกับรายได้รวมมันสูงขึ้น ก่อนโควิดรายได้ป๊อบคอร์นเมื่อเทียบกับรายได้โรงหนังอยู่ที่ 40% เราก็แฮปปี้แล้ว เมื่อเดือนที่แล้วรายได้ป๊อปคอร์นเกือบ70% ผมคิดว่าในปีหน้ารายได้ป๊อบคอร์นจะเท่ากับรายได้ตั๋วหนัง อยู่ที่ 50:50 จากปีนี้ 2,500 ล้านบาท เป็น  5,000 ล้านบาท”หัวเรือใหญ่เมเจอร์กล่าวอย่างมีหวัง

สำหรับการผลักดันยอดขายป๊อปคอร์น “วิชา” บอกว่า ปีหน้าจะนำป๊อปคอร์นวางขายในเซเว่นอีเลฟเว่น และปรับราคาให้ถูกลงจากถุงละ 35-40 บาท เป็นถุงละ 20-25 บาท คาดว่าจะมีรายได้ 50 ล้านบาทต่อเดือนหรือปีละ 600 ล้านบาท โดยจับมือกับเถ้าแก่น้อยที่เข้าไปซื้อหุ้น มาช่วยทำการตลาด วางกลยุทธ์ กระจายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ มีเเครือข่ายอยู่ทั้งต่างประเทศ ในประเทศและต่างจังหวัด ปัจจุบันเมเจอร์ขายป๊อปคอร์นผ่านออนไลน์ ลาซาด้า ช้อปปึ้ โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ อนาคตจะโฟกัสไปที่คอนวีเนียนสโตร์และต่างประเทศ

“ป๊อปคอร์นเป็นธุรกิจที่เติบโตเหลือเชื่อจริงๆ โตขึ้น 30% จาก 40% เป็น 70% ต้องบอกว่าโควิดช่วยให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ และได้มองในสิ่งที่เราไม่เคยมอง อีกธุรกิจที่พบว่าเป็นธุรกิจใหม่ในช่วงโควิด คือ การเหมารอบโรงหนัง ทำอีเวนต์ เปิดตัวสินค้า สร้างรายได้เยอะมาก เดือนละหลายล้านบาท จะเป็นอีกธุรกิจที่เราจะโฟกัสต่อไป” เจ้าพ่อโรงหนังกล่าว

เพื่อให้เห็นภาพ “วิชา” ยกตัวอย่างช่วงทำธุรกิจบลูโอที่แรกๆเน้นคนวอล์คอินเข้ามา เพื่อเล่นโบว์ลิ่ง ขายเป็นราย เป็นเรต พอเริ่มโฟกัสขายทีละ 20-30 เลน เป็นทัวร์นาเมนต์ ปัจจุบันถ้าไม่มีเราปิดหมดเลย เพราะไม่พอกิน ตอนนี้บลูโอทัวร์นาเม้นท์มีรายได้เกือบ 50% เท่ากับปี2562 แล้ว โดยมีรายได้เดือนละกว่า 10 ล้านบาท เราจะตั้งทีมขึ้นมาดูมากขึ้น  เช่น เข้าไปคุยกับบริษัท องค์กรต่างๆ ให้มาเหมาซื้อตั๋วดูหนัง 300 ใบ 500 ใบ 1,000 ใบ จะเป็นอีกเวอร์ชั่นของการขายตั๋วหนังมากกว่ารอลูกค้ามาซื้อ

เมื่อถามว่าในปีหน้า เป็นฟ้าหลังฝนของธุรกิจโรงหนัง ”เมเจอร์” จะลงทุนอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ ”วิชา” ตอบชัดว่า สิ่งที่เมเจอร์ได้เรียนรู้จากโควิด เมนูซักเซสของเรา คือ จะทำสิ่งที่ถนัด รู้จริง ทำได้ดีที่สุดเท่านั้น อะไรที่นอกเหนือจากธุรกิจหลักแล้วไม่ทำ ไม่มอง ไม่สนใจ

ในปีหน้าจะใช้เงินลงทุน 800-1,000 ล้านบาท ปรับปรุงสโตร์เดิมและขยายสาขาเพิ่มมากถึง 13 สาขา 49 โรง โดยจะเปิดที่วันแบงค็อกเป็นโรงขนาดใหญ่ระดับพรีเมียม 7-8 โรง, เซ็นทรัล เวสต์ วิลล์ราชพฤกษ์ ,โรบินสัน ฉลอง ,โลตัสนครนายก, สระแก้ว, นราธิวาส, ปัตตานี ,บิ๊กซีบางบอน, สระบุรี, ยะลา รวมถึงไฮเปอร์ มาร์เก็ต 2 สาขา และเปิดสาขาสแตนด์อโลนที่ภูเก็ต ตลอดจนขยายโบว์ลิ่งอีก 3 สาขา 40 เลน และ คาราโอเกะ 30 ห้อง

จากปัจจุบันเมเจอร์มีสาขารวม 180 สาขา 839 โรง 188,973 ที่นั่ง แยกเป็นในประเทศ 172 สาขา 800 โรง 180,081 ที่นั่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง 77,605 ที่นั่ง ต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 102,919 ที่นั่ง ต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง ในประเทศลาว 3 สาขา 13 โรง 3,235 ที่นั่ง ประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 5,368 ที่นั่ง มีสาขาโบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดบริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง

“ไฮไลต์สาขาใหม่ปีหน้า คือ วันแบงค็อก เราได้พื้นที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ยังไม่เท่าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ขณะที่ภูเก็ตจะเป็นสแตนด์อโลนขนาดใหญ่และอยู่ในทำเลที่ดีมาก พัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ และเป็นมากกว่าโรงหนัง มีรีเทล โบว์ลิ่ง เพราะโรงหนังไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในห้างอย่างเดียว และยังมีแผนจะนำที่ดิน 5 ไร่ เมเจอร์รัชโยธินมาพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต คนไทยมีไลฟ์สไตล์ชอบเข้าโรงหนัง ช้อปปิ้ง ชอบทานข้าวนอกบ้าน ในแง่ของธุรกิจผมมอว่าเรายังแข็งแรง”เจ้าพ่อโรงหนังกล่าวย้ำ

ท่ามกลางมหาวิกฤตจากโรคระบาดไว้รัส ไม่ใช่แค่รายได้จากธุรกิจป๊อปคอร์นที่เขาบอกว่าต้องเก่งกับเฮง ”วิชา”ยังเล่าย้อนให้ฟังถึงการตัดสินใจขายทรัพย์สินของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือSF ให้กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)หรือCPN เมื่อกลางปี 2564  และ 3 ทางเลือกที่เขาต้องเลือกเดินในช่วงเวลานั้น เพื่อบริหารสภาพคล่องธุรกิจโรงหนัง เพราะแม้เจอโควิด โรงหนังปิด แต่บริษัทยังจ่ายเงินเดือนให้พนักงานและอะไรอีกจิปาถะ

“คุยกันในทีมว่า 3 เรื่องที่ผมต้องทำ เรื่องแรกเลยแคซโฟว(กระแสเงินสด)  เรื่องที่2 คน เรื่องที่3 คือการกำหนดกลยุทธ์ จะทำโมเดลแบบเดิมยังไง หรือจะทำโมเดลแบบใหม่ยังไง เรื่องแคชโฟวมันยาก ไม่ใช่ว่าจะเลือกขายหุ้นสยามฟิวเจอร์เป็นทางเลือกแรก ผมคิดง่ายๆเลย ต้องเพิ่มทุน“วิชากล่าวและว่า

“แต่เผอิญคุณนพพร (อดีตผู้บริหารSF) ป่วยทำงานไม่ได้ ไม่มีทายาท มาปรึกษาผมจะขายธุรกิจ ขอให้ผมช่วย ผมบอกว่านี่โควิดไทม์นะ จะไปขายใคร ขายเทกระจาด ขายของถูกหรือเปล่า ไม่เคยคิดอยากจะขาย ตอนนั้นหุ้นสยามฟิวเจอร์อยู่ที่ 6 บาท มีคนให้ 8 บาท จะซื้อ สุดท้ายขายได้ 12 บาท ได้เท่าหนึ่ง จากที่ควรจะได้ 4,000 ล้านบาท เลยได้ 8,000 ล้านบาท ผมถือหุ้นใหญ่ก็จริง แต่เราให้เกียรติผู้ถือหุ้นเดิม ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ขาย ผมก็ไม่ขาย เราก็เลือกเพิ่มทุน”

หลังตัดขายทรัพย์สินสยามฟิวเจอร์ไป ทำให้ปัจจุบัน”เมเจอร์”ตัวเบา ไม่มีหนี้ แถมยังได้เงินก้อนใหญ่มาซื้อหุ้นเถ้าแก่น้อยและเวิร์คพอยท์ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น

“เราอาจจะถือว่าโชคดี เพื่อนๆชอบแซวว่าผมว่า พี่บุญเยอะ เราขายสยามฟิวเจอร์ไปได้เงินมา 8,000 ล้านบาท ตอนนี้เราไม่มีหนี้  แต่เมเจอร์จริงๆ หนี้ก็ไม่ได้เยอะ แต่ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน เจอโควิดเข้าไป มันไม่ใช่ 2 เดือน 6 เดือน แต่เป็นปีเลย  โควิดเข้ามา แต่ละคนจะแก้ปัญหาไม่เหมือน ใครมีหนี้เยอะ ก็เหนื่อยหน่อย เก่งไม่พอต้องมีเฮงด้วย”

คำตอบของเจ้าพ่อโรงหนัง หลังสู้กลับวิกฤต จนฝ่ามหาวิกฤตมาได้ ถึงจะไม่ง่าย แต่ก็ผ่านมาได้อย่างบิ๊กเซอร์ไพรส์!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image