ติดโซลาร์รูฟท็อปเริ่มต้น 1.3 แสนบ. 5 กิโลวัตต์ ประหยัดไฟสูงสุด 2,100 บ./เดือน

‘ตรีรัตน์’ ซีอีโอ NEPS เผยติดโซลาร์รูฟท็อปเริ่มต้น 1.3 แสนบ. 5 กิโลวัตต์ ประหยัดไฟสูงสุด 2,100 บ./เดือน

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานกรรมการบริหารบริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า จากสถานการณ์ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อปขยายตัวต่อเนื่อง จากปี 2564 เกิดการขยายตัวถึง 4-5 เท่าตัว เพราะค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น รวมถึงประชาชนไม่มีทางเลือกและต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามที่กำหนด จากอดีตค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) อยู่ระดับ 3.7 บาทต่อหน่วย ขยับขึ้นมา 4.72 บาทต่อหน่วย ล่าสุดจะมีการขยับขึ้นถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย มีผู้ติดต่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูปท็อปมากขึ้น โดยได้มีการติดตั้งในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าสูง โรงงาน ห้างสรรพสินค้า โชว์รูม เป็นต้น นอกจากนี้ เริ่มมีมากขึ้นในกลุ่มบ้านเรือน

นายตรีรัตน์กล่าวว่า สำหรับการติดตั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ปกติจะเริ่มที่ 3-5 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 2,000-2,100 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนการติดตั้งถึง 70% หากติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 4,000-4,100 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนการติดตั้งถึง 20% นอกจากนี้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงหากติดตั้งที่ 5 กิโลวัตต์ มีราคาเริ่มต้นที่ 130,000 บาท ผู้ติดตั้งจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี และมีอายุการใช้งาน 25-30 ปี ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจึงเป็นทางเลือกที่ควรลงทุน เพราะคุ้มค่าต่อการใช้งานในอนาคต

“คาดว่าในอนาคตธุรกิจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะขยายตัวมากขึ้นและเกิดการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะผู้บริโภคจะเข้าถึงการรับรู้และสามารถเลือกใช้บริการที่หลากหลายขึ้น และสามารถใช้งานจากประโยชน์ของการลงทุนได้จริง” นายตรีรัตน์กล่าว

นายตรีรัตน์กล่าวว่า สำหรับปี 2566 คาดว่าภาคครัวเรือนจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น อีกทั้งกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หายไป เพราะประชาชนคงไม่อยากซื้อรถอีวีไปแล้วต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท ถ้าเป็นแบบนั้น ประชาชนคงเลือกใช้รถยนต์ที่เติมน้ำมันตามปกติจะคุ้มมากกว่า เพราะค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะไม่ตอบโจทย์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับการทำมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ภาครัฐดำเนินการ นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากต้นทุนด้านพลังงาน แต่มาจากค่าความพร้อมของพลังงานและการสำรองไฟที่มากเกินไปของรัฐมากกว่าที่นำภาระต่างๆ มาตกสู่ประชาชน โซลาร์เซลล์จึงเป็นทางเลือกของประชาชนและสามารถติดตั้งได้

Advertisement

นายตรีรัตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปสรรคค่อนข้างสูง เนื่องจาก 1.รัฐไม่มีการสนับสนุนเงินทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือประชาชนที่สนใจรายเล็ก ยกตัวอย่างในสหรัฐ คำนวนจากอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ที่ใช้ถึง 25 ปี จึงมีการรณรงค์โดยให้ประชาชนที่ติดตั้งสามารถผ่อนจ่ายค่าติดตั้งเป็นรายเดือนกับการไฟฟ้าถึง 20 ปี ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการจะต้องหาทางเพื่อเข้าถึงสินเชื่อและเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจต่ำ

2.ขั้นตอนการขอใบอนุญาตติดตั้งซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะผู้ขอติดตั้งต้องดำเนินเรื่องขออนุญาตการดัดแปลงอาคาร ขอขนาดไฟฟ้า และขอยืนเพื่อกำกับกิจการพลังงานด้วยตนเอง มองว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการติดตั้งยากขึ้น

“รัฐควรสนับสนุนให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าที่ถูกลงแต่รัฐกลับเอากฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานให้ติดตั้งได้ยากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้บริษัทผู้ให้บริการสามารถติดตั้งให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงถ้ารัฐยืดหยุ่นหรือยกเลิกขั้นตอนดังกล่าวมารวมเป็นระบบออนไลน์สามารทำเรื่องขออนุญาตไว้ที่เดียวจะเป็นการสนับสนุนที่ดีกว่า” นายตรีรัตน์กล่าว

Advertisement

 

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image