‘พาณิชย์’ ตั้งเป้าปี’66 ส่งออกโต 1-2% พร้อมนำทัพหนุนเอกชนบุกตลาดอาหรับเสริมการค้า

‘พาณิชย์’ ตั้งเป้าปี’66 ส่งออกโต 1-2% พร้อมนำทัพหนุนเอกชนบุกตลาดอาหรับเสริมการค้า

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนธันวาคม 2565 และทั้งปี 2565 กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2566 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เป็นต้น โดยที่ประชุมได้ประเมินตัวเลขการส่งออกร่วมกันในนาม กรอ.พาณิชย์ และตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกในปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 1-2% หรือมีมูลค่า 289,938-292,809 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2565 ที่ตั้งไว้ที่ 4%

นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้ประเมินว่ายังมีปัจจัยบวกส่งผลให้การส่งออกยังขยายตัว เช่น 1.ระบบการขนส่งสินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2.คาดว่าความต้องการด้านอาหารของโลกยังมีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารเป็นผลดีกับการส่งออกอาหารของไทย 3.ตลาดศักยภาพบางตลาดยังรองรับการส่งออกของไทยได้ เช่น 4 ตลาดหลักที่จะบุกเป็นพิเศษในปี 2566 อาทิ ตะวันออกกลาง อาจบวกถึง 20%

โดยในวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะพาภาคเอกชนไปเปิดตลาดการค้าที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประตูสู่ตะวันออกกลางอีกประเทศหนึ่ง จะไปนับหนึ่งให้เอกชนมีลู่ทางบุกตลาดตะวันออกกลางนอกจากซาอุดีอาระเบียที่นำคณะไปแล้ว และตลาดเอเชียใต้ที่จะสามารถทำบวกได้ 10% คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และตลาด CLMV ที่คาดว่าสามารถทำตัวเลขบวกได้ถึง 15% สุดท้ายตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่และมีแนวโน้มกำลังจะเปิดประเทศยังทำตัวเลขบวกได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 มีปัจจัยทางลบที่เป็นแรงเสียดทานต่อการส่งออกไทยหลายปัจจัย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นตลาดหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 0.5-1% หรือสหภาพยุโรปที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0-0.5% ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.6% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน

Advertisement

2.มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2566 ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยยังคงมีสต๊อกสินค้าอยู่ จึงอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าหรือนำเข้าได้ 3.ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีแนวโน้มลดลงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลง และ 4.ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากขึ้น และ 5.ความขัดแข้งด้านภูมิศาสตร์ที่ยังตึงเครียด ซึ่งสร้างอุปสรรค์ต่อการค้า

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image