‘อาคม’ สั่งแบงก์ช่วยแก้หนี้ ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เปิดเกมแก้ต่อเนื่องตลอดปี 66

‘อาคม’ สั่งแบงก์ช่วยแก้หนี้ ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เปิดเกมแก้ต่อเนื่องตลอดปี 66

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้เสนอผลการดำเนินงาน มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืนขึ้น ที่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ จัดงาน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขและการปรับโครงสร้างหนี้สินของประชาชน

สำหรับผลการจัดงานในรูปแบบสัญจร มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 3.4 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 1 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท ขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ อีกจำนวนมาก 1.3 หมื่นรายการ

ส่วนช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันมีประชาชนเข้ารวมรับบริการกว่า 4.17 แสนรายการ พบว่า มีรายการที่รอรายงานกลับอีก 5 หมื่นรายการ ส่วนที่ไม่สามารถติดต่อได้ 1 แสนรายการ และส่วนที่ไม่เข้าเงื่อนไข อาทิ ให้ข้อมูลผิด อีก 1 แสนรายการ ส่วนประชาชนและผู้ประกอบการที่อยู่ในกระบวนการทั้งที่สำเร็จแล้ว อยู่ในกระบวนการ และรอการติดต่อจากธนาคารอยู่ที่ 1.5 แสนรายการ โดยมีที่ได้รับการแก้ไขแล้ว 40% หรือ กว่า 5 หมื่นรายการ คิดเป็นมูลหนี้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้พบว่า เป็นหนี้ของสินเชื่อประเภท บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน จะจบลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตลอดเวลา

Advertisement
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวว่า โดยกระทรวงการคลัง ยังมีมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 นี้ สนับสนุนให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

ส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธทป.) ได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ 2.หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร และ 3.คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน

“ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งแบงก์รัฐเพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยไป อาจทำให้ลูกหนี้มีภาระเพิ่มขึ้น จึงกำชับให้ธนาคารรัฐเร่งช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระ เช่น การลดเงินงวด การหาทางเสริมอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มเงินกู้ รวมถึงให้คำปรึกษา ส่วนลูกหนี้กู้ใหม่ก็จะปล่อยกู้ตามขีดความสามารถ แต่เน้นให้ขยายเวลาผ่อนชำระให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง” นายอาคม กล่าว

Advertisement
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า แบงก์รัฐพยายามตรึงดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ และเพิ่งปรับขึ้นครั้งแรกไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเงินงวดเพิ่ม แต่อาจมีระยะเวลาการผ่อนนานขึ้นบ้าง ขณะที่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ทางคลังก็สั่งการให้ช่วยดูแลอย่างเต็มที่ ขณะที่ลูกหนี้ใหม่ อาจทำให้วงเงินการกู้ลดลงไปบ้าง

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image