‘โซจู’ ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีเกลื่อนเมือง สบช่องว่าง ‘โครงสร้างภาษีไทย’

‘โซจู’ ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีเกลื่อนเมือง สบช่องว่าง ‘โครงสร้างภาษีไทย’

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทรนด์เกาหลีในไทยแรงไม่แผ่วจริงๆ!!

ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง ซีรีย์ แฟชั่น ตลอดจนอาหาร และเครื่องดื่ม หนึ่งในนั้นคือ เหล้าโซจู

ผู้สื่อข่าวมีโอกาสสำรวจบรรดาร้านอาหารกินดื่มพบว่า เหล้าโซจู มาแรงจริงๆ แม้แต่ร้านอาหารญี่ปุ่นสาเกยังถูกเบียด เพราะตามร้านอาหาร ผับ บาร์ ผู้บริโภคนิยมสั่งโซจูมาดื่ม ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากอิทธิพลตามรอยซีรีย์ที่โด่งดังแทบทุกเรื่อง

แม้แต่ร้านสะดวกซื้อในไทยยังมีโซจูให้เลือกสารพัดรส สารพัดแบรนด์ จะถูกจะแพงมีให้หมด พลิกขวดมาดูหลายเจ้าผลิตในไทย ราคาจึงยิ่งถูกลง หลากรสหลากกลิ่น

Advertisement

มีโอกาสแลกเปลี่ยนประเด็นเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในเมืองไทยกับผู้ผลิตแอลกอฮอล์รายหนึ่ง พบว่า เริ่มมีอาการน้อยใจรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย แต่ทำไมปล่อยให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เปรียบเสมือนการปล่อยตัวในการแข่งวิ่ง ที่ให้แต้มต่อกับคนเก่งวิ่งเร็วอุปกรณ์ครบ แทนที่จะถอยไปเริ่มต้นไกลกว่าเพื่อไม่ให้เกิดกรณีปลาใหญ่สวามปามปลาเล็ก แต่กลับให้รายใหญ่ปล่อยตัวใกล้เส้นชัยมากกว่า

ผู้ผลิตรายได้ยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน โซจูได้แต้มโบนัสให้เสียภาษีสรรพสามิตน้อยกว่าแอลกอฮอล์หลายประเภท ประมาณ 10% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับ RTD เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมพร้อมดื่มหรือวัยรุ่นมักให้นิยามว่าเหล้าสีลูกกวาดนั่นแหละ ทำให้มีราคาขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งอื่น ๆ รวมไปถึงโซจูแบรนด์นำเข้าที่ต้องเสียภาษีอีกระดับหนึ่งด้วย

จึงเกิดคำถามตามว่า ที่เสียภาษีต่ำเพราะปริมาณแอลกอฮอล์น้อยรึเปล่า รัฐน่าจะใช้มาตรการทางภาษีในการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง เพื่อกีดกันไม่ให้คนดื่มเหล้าแรงๆ จะได้ไม่เมามาก ไม่เมาเร็ว?

Advertisement

แต่เมื่อเจาะเครื่องดื่มรายชนิด กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะปัจจุบันโซจู (เทียม) ปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 10-15%, RTD และไวน์คูลเลอร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ราว 4-10% แต่ไทยเก็บภาษี (ราคาขายปลีกแนะนำ) ที่ 10% ขณะที่ส่วนวิสกี้มีปริมาณแอลกฮฮล์อยู่ราวๆ 35-40% เก็บภาษีที่ 20%

ส่วนเหล้าขาว แม้จะแอลกอฮอล์จะสูงถึง 28-40% เก็บภาษีเพียง 2% ด้วยเหตุผล การเป็นเหล้าพื้นถิ่นยืนหนึ่งในใจชาวบ้านมานานแสนนาน

ที่น่าสนใจคือ ทั้งผู้ผลิตทั้งเหล้าขาวและ RTD ในไทยล้วนแต่เป็นรายใหญ่ แต่ได้จ่ายภาษีระดับต่ำ ผลประกอบการพุ่งเอาๆ ขณะที่เบียร์มีแอลกอฮอล์ประมาณ 4-7% ใกล้เคียงกับ RTD และไวน์คูลเลอร์ แต่เสียภาษีสูงกว่าอยู่ที่ 22% เรียกได้ว่าเบียร์ต้องเสียภาษีสูงกว่ากันอีกเท่าตัว!!

ขณะนี้จึงเกิดคำถามดังๆ จากผู้ผลิตแอลกอฮอล์ในไทยว่า “โซจู(เทียม) ถือเป็นเหล้าพื้นถิ่นที่ต้องสงวนไว้แบบเหล้าขาวงั้นหรือ?”

เพราะวิเคราะห์ยังไงโซจูก็ถือเป็นเหล้าพื้นถิ่นของเกาหลี ไม่เกี่ยวกับไทย แม้เกาหลีจะปล่อยให้สร้างซอฟต์พาวเวอร์ มีการนำไปสอดแทรกในซีรีย์ต่างๆ ได้ ไม่ผิดกฎ ต่างกับไทย แต่เรื่องเก็บภาษี เกาหลีดำเนินตามรอยประเทศที่พัฒนาคือหันไปเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพราะเป็นการแก้ไขและป้องกันที่ถูกจุดมากกว่า

ขณะที่ไทยประกาศเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอี แต่ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์กลับมองข้ามเอสเอ็มอี เพราะเปิดตลาดให้รายใหญ่มาเล่นสร้างโอกาสช่องโหว่จากภาษีที่จ่ายถูกกว่า

คงจะดีถ้าผู้ผลิตแอลกอฮอล์ไทย ได้จุดสตาร์ทจากรัฐระยะเดียวกันหมด ไร้ความลักลั่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยของไทยจากการสอบถามหลายๆฝ่าย ยืนยันพร้อมทำแบรนด์แข่งไม่มีท้อ

ท้ายที่สุดการแข่งขันที่เป็นธรรม จะสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติอยู่ดี เพราะหากเอสเอ็มอีไทยเข้มแข็ง รายได้กระจายตัว วลี “รวยกระจุก จนกระจาย” จะเบาลง และยังทำให้ประเทศตระหนักรู้และเกิดวัฒนธรรมของความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ภาษีน้ำเมาที่เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์จริงๆ อาจลดปัญหาสังคมจากเมาได้อีกทางด้วย!!

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image