‘อุตุฯ’ เตือน กลางวันฟ้าหลัว-ฝนบางพื้นที่ ‘กทม.’ ร้อนระเบิด แตะ 36 องศา

‘อุตุฯ’ เตือน กลางวันฟ้าหลัว-ฝนบางพื้นที่ ‘กทม.’ ร้อนระเบิด แตะ 36 องศา 14-17 ก.พ.อากาศแปรปรวน ลุ้นเจอพายุ ลมแรง-ลูกเห็บตก

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้

ทั้งนี้ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนระลอกใหม่ได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนกลางแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับในช่วงวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ในระยะแรก

หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยเนื่องจากมีการระบายอากาศดี เว้นแต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ฝุ่นละอองยังสะสมอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก

Advertisement

ภาคเหนือ

อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 12-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Advertisement

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

นอกจากนี้ ยังออก ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบในช่วงวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2566 ฉบับที่ 3 ระบุว่า

ในช่วงวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับในช่วงวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส

ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย และดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image