ค่าไฟงวดพ.ค.-ส.ค.66 ลดเหลือเท่าไหร่ เลขาฯกกพ.ตอบทุกข้อสงสัย!!

“คมกฤช” เลขาฯกกพ.ตอบคำถามค่าไฟลดลงต่ำกว่า 5 บาท/หน่วย งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 ชี้แอลเอ็นจีร่วงแต่ต้องดูยาวทั้งปี จับตาก๊าซอ่าวไทย-เงินบาทตัวแปรค่าไฟ ย้ำค่าไฟลดแน่แต่ห้ามลืมหนี้กฟผ.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกกพ. เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) คาดการณ์ค่าไฟงวดใหม่(พฤษภาคม-สิงหาคม2566) มีโอกาสต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย หลังราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร(สปอต แอลเอ็นจี) ลดต่ำเหลือ 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูว่า ค่าไฟงวดใหม่มีโอกาสสูงที่จะต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะลดลงเหลือกี่บาท เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย โดยต้องพิจารณาต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน2566 และคาดการณ์ต้นทุนของงวดใหม่ ตลอดจนช่วงที่เหลือของปี เพื่อบริหารต้นทุนให้สมดุลใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด อย่างราคาแอลเอ็นจีแม้ราคาลงไประดับ 15-16 เหรียญฯ แต่ราคาที่ไทยซื้อได้คือราคา 18-20 เหรียญฯในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ ขณะที่เดือนมกราคมที่ผ่านมาซื้อสูงกว่า 20 เหรียญฯ ราคาลักษณะนี้ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน

“นอกจากนี้ต้องจับตาช่วงปลายปีหากเกิดเหตุการณ์แย่งซื้อแอลเอ็นจี ทั้งรับฤดูหนาว เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวมาปกติ ราคาจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้นต้องดูราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี แต่ภาพรวมเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อค่าไฟของไทย”นายคมกฤชกล่าว

นอกจากนี้ต้องจับตาปัจจัยปริมาณก๊าซในอ่าวไทยว่าจะกลับมาเพิ่มปริมาณการผลิตตามที่ผู้ผลิตรายใหม่ระบุไว้หรือไม่ คือ กลางปีจะอยู่ที่ระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่ผ่านมาเหลือเพียงระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งที่ไทยมีความต้องการอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปัญหาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยไม่เพียงพอคือเรื่องที่น่ากังวลกว่าราคาแอลเอ็นจี เรื่องนี้ต้องอยู่ที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในการบริหารจัดการ นอกจากนี้้ต้องจับตาสถานการณ์การรับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาว่าจะเป็นระดับปกติ หรือลดลงหรือไม่ หากลดลงไม่ส่งผลดีต่อไทยเช่นกัน อีกประเด็นคือการจัดสรรก๊าซธรรมชาติว่าจะลดเข้าโรงแยกก๊าซเท่าไหร่ เพราะงวดใหม่นี้ กพช.ไม่ได้มีมติให้จัดสรรให้ครัวเรือนก่อน ก็ต้องไปดูปริมาณกันอีกครั้ง

อีกประเด็นที่มีผลอย่างมากต่อต้นทุนค่าไฟของไทย คือ อัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันแข็งค่าขึ้น เหลือระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัญ ถือเป็นผลบวกต่อต้นทุนค่าไฟ เมื่อเทียบกับงวดปัจจุบัน(มกราคม-เมษายน2566) ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างมากเป็นระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญฯ ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงทุกชนิดสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซฯในอ่าวไทย ก๊าซเมียนมา แอลเอ็นจีลองเทอม สปอตแอลเอ็นจี รวมทั้งดีเซลมาผลิตไฟฟ้า ต้องถูกคำนวณผ่านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด

Advertisement

นายคมกฤช กล่าวว่า หากภาคเอกชนซึ่งปัจจุบันจ่ายค่าไฟ 5.33 บาทต่อหน่วย ต้องการค่าไฟลดลงเหลือระดับ 4.72 บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นระดับที่ภาคครัวเรือนจ่ายอยู่นั้น อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่าอัตราค่าไฟงวดปัจจุบัน(มกราคม-เมษายน2566) หากเป็นราคาเดียวจะอยู่ที่ 5.24 บาทต่อหน่วย ก่อนจะทำ 2 ราคาเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและให้กลุ่มอื่น อาทิ เอกชน จ่ายแพงกว่า ดังนั้นหากพิจารณาจากราคาปัจจุบัน 5.24 บาทต่อหน่วย แล้วลดให้เหลือ 4.72 บาทต่อหน่วย เท่ากับต้องลดประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย ถามว่าทำได้หรือไม่ ต้องขอพิจารณาต้นทุนประมาณการหลังจากนี้อีกครั้ง แต่อย่าลืมว่ายังมีหนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รับภาระอยู่ ตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ใช้ประมาณการค่าไฟงวดปัจจุบัน(มกราคม-เมษายน2566) อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท หลังจากนี้ต้องรอตัวเลขกฟผ.ส่งมาอีกครั้ง หากคำนวณจากการคืนหนี้ค่าไฟ 22 สตางค์ต่อหน่วย ระยะเวลา 3 ปี ในงวดปัจจุบัน น่าจะทำให้หนี้ลดลงหลักหมื่นล้านบาทในกรณีที่ไม่มีหนี้ตัวอื่นเพิ่มอีก

“หากค่าไฟงวดใหม่รัฐใช้เงินส่วนอื่นมาคืนหนี้กฟผ. 22 สตางค์ต่อหน่วย หลักหมื่นล้านบาท จะเหลือค่าไฟที่ต้องลดลง 30 สตางค์ต่อหน่วย จึงจะลดค่าไฟเหลือ 4.72 บาทต่อหน่วยได้ แต่คำถามคือจะคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่างวดหน้ารัฐจะใช้เงินในการดูแลกลุ่มเปราะบางมากกว่า เพราะเห็นผลจากการช่วยเหลืดชัดเจน ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินจากสมมติฐานที่มีอยู่ แต่การพิจารณาต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย ดังนั้นอยากให้รอต้นทุนภาพรวมหลังจากนี้ก่อนจึงจะตอบได้ว่าค่าไฟงวดหน้าจะลดลงได้เท่าไหร่”นายคมกฤชทิ้งท้าย

 

Advertisement

 

อ่านข่าวอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image