กกพ.ยื้อลดค่าไฟต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย ชี้มีภาระใช้หนี้คืน กฟผ. 1.7 แสนล้านบาท

กกพ.ยื้อลดค่าไฟต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย ชี้มีภาระใช้หนี้คืน กฟผ. 1.7 แสนล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คาดการณ์ค่าไฟงวดใหม่ (พฤษภาคม-สิงหาคม) มีโอกาสต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย หลังราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (สปอต แอลเอ็นจี) ลดต่ำเหลือ 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ว่า มีโอกาสสูงจะต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดลงเหลือกี่บาท

เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน และการประเมินต้นทุนของงวดใหม่ตลอดจนช่วงที่เหลือของปี เพื่อบริหารต้นทุนให้สมดุลใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด นอกจากนี้ แม้ราคาแอลเอ็นจีลงไประดับ 15-16 เหรียญ แต่ราคาที่ไทยซื้อได้คือราคา 18-20 เหรียญ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ ขณะที่เดือนมกราคมที่ผ่านมาซื้อสูงกว่า 20 เหรียญ จึงต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน

นอกจากนี้ ต้องจับตาช่วงปลายปีหากเกิดเหตุการณ์แย่งซื้อแอลเอ็นจี ทั้งรับฤดูหนาว เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวมาปกติ ราคาจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้น ต้องดูราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี แต่ภาพรวมเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อค่าไฟของไทย นายคมกฤชกล่าว

  • ค่าเงินบาทตัวแปรค่าไฟ

นายคมกฤช กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ต้องพิจิารณาปริมาณก๊าซในอ่าวไทยว่าจะกลับมาเพิ่มปริมาณการผลิตตามที่ผู้ผลิตรายใหม่ระบุไว้หรือไม่ คือกลางปีจะอยู่ที่ระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งที่ไทยมีความต้องการอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

Advertisement

นายคมกฤช กล่าวว่า อีกประเด็นที่มีผลอย่างมากต่อต้นทุนค่าไฟของไทย คือ อัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือเป็นผลบวกต่อต้นทุนค่าไฟ เมื่อเทียบกับงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน) ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างมากเป็นระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญ ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงทุกชนิดสูงมาก รวมทั้งการใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าต้องถูกคำนวณผ่านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด

  • อย่าลืมมีภาระใช้หนี้ กฟผ.

นายคมกฤชกล่าวว่า หากภาคการผลิตเอกชนซึ่งปัจจุบันจ่ายค่าไฟ 5.33 บาทต่อหน่วย ต้องการค่าไฟลดลงเหลือระดับ 4.72 บาทต่อหน่วยเท่ากับภาคครัวเรือน ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าอัตราค่าไฟงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน) หากเป็นราคาเดียวทั้งหมดจะอยู่ที่ 5.24 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากจะให้ลดเหลือ 4.72 บาทต่อหน่วย เท่ากับต้องลดประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย ต้องถามว่าทำได้หรือไม่ และต้องขอพิจารณาต้นทุนประมาณการหลังจากนี้อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระอยู่ ตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท หลังจากนี้ต้องรอตัวเลข กฟผ.ส่งมาอีกครั้งว่าจะเพิ่มไปอีกเท่าไร หากคำนวณจากการคืนหนี้ค่าไฟ 22 สตางค์ต่อหน่วยให้ กฟผ. ระยะเวลา 3 ปี น่าจะทำให้หนี้ลดลงหลักหมื่นล้านบาทในกรณีไม่มีหนี้ตัวอื่นเพิ่มอีก

“หากค่าไฟงวดใหม่รัฐใช้เงินส่วนอื่นมาคืนหนี้ กฟผ. 22 สตางค์ต่อหน่วย หลักหมื่นล้านบาท จะเหลือค่าไฟที่ต้องลดลง 30 สตางค์ต่อหน่วย จึงจะลดค่าไฟเหลือ 4.72 บาทต่อหน่วยได้ แต่คำถามคือจะคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่างวดหน้ารัฐจะใช้เงินในการดูแลกลุ่มเปราะบางมากกว่า เพราะเห็นผลจากการช่วยเหลืดชัดเจน ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินจากสมมุติฐานที่มีอยู่” นายคมกฤช กล่าว

  • สอท.ชี้ครัวเรือนต้องไม่จ่ายแพงขึ้น

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากตัวแทนภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หารือกับตัวแทนจากกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) นัดแรก เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา เชื่อว่าขณะนี้ภาครัฐคงกำลังรอพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งล่าสุดที่ประชุม กพช.คาดการณ์ค่าไฟงวดใหม่ (พฤษภาคม-สิงหาคม) มีโอกาสต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งเอกชนแจ้งไปแล้วว่าหากภาครัฐจะให้ค่าไฟภาคครัวเรือนเท่ากับภาคธุรกิจ ภาครัฐก็ไม่ควรให้ครัวเรือนต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิมจากราคา 4.72 บาทต่อหน่วย

นางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าถือว่ามีกระทบมากต่อธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว และอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่กลับเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า สรุปว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือหรือซ้ำเติมภาคธุรกิจกันแน่ และไม่เพียงภาคธุรกิจที่เดือดร้อน แต่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกครัวเรือนเดือดร้อนกันหมด

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากปัจจัยราคาก๊าซธรรมชาติลดต่ำลงอย่างมาก แนวโน้มการปรับลดค่าเอฟทีในค่าไฟงวดใหม่ จึงมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจาก กกพ.เคยอ้างเรื่องการปรับขึ้นลงอัตราค่าไฟฟ้า จะอิงจากราคาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เมื่อราคาก๊าซปรับลดลงมาเรื่อยๆ ก็ควรจะปรับลดอัตราค่าไฟให้กับ

“อยากวิงวอนไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณากำหนดอัตราค่าไฟตามหลักความเป็นจริงด้วย เพราะถ้าค่าก๊าซลง แต่อัตราค่าไฟยังสูง แล้วเงินส่วนต่างที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ตกไปอยู่ที่ไหน ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ อย่าผลักภาระให้กับประชาชนเหมือนที่ผ่านๆ มา” นายหัสดินกล่าว

 

 

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image