แบงก์ชาติห่วง!! หนี้ครัวเรือนทะลุ 87% เกินระดับเฝ้าระวัง เร่งคลอดมาตรการแก้ด่วน

จ่อคลอดมาตรการแก้ ‘หนี้ครัวเรือน’ แบงก์ชาติห่วงยอดทะลุ 87% เกินระดับเฝ้าระวัง

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังมีความผันผวน พบว่าปัญหาหนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่ โดยหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2565 ยอดหนี้ลดลง 87% ของจีดีพี แต่มีปริมาณหนี้สูงถึง 14.9 ล้านล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับคำขอปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่ภายใต้มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ที่ ธปท. ได้จัดร่วมกับกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้จึงได้มีมติปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยขยายให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย จากเดิมก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และอยู่ระหว่างกำหนดแนวทางปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้ครอบคลุมและทันเวลายิ่งขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท.ได้ออกแนวนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน นอกจากจะดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ ธปท.จะออกเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยคาดจะออกหลักเกณฑ์ได้ไตรมาส 2-3 ปีนี้ และคาดบังคับใช้สิ้นปี 2566

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง: เปิด 8 สาเหตุ ‘หนี้ครัวเรือน’ โตดุไม่เกรงใจใคร พบ 58% Gen Y เป็นหนี้เร็ว-กว่า 25% เป็นหนี้เสีย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สรุปผลการดำเนินการแก้หนี้ผ่านมาตรการที่ผ่านมา โดยภาพรวมการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 รวม 3.95 ล้านบัญชี จำนวน 2.98 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.58 ล้านบัญชี 1.89 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2.37 ล้านบัญชี 1.09 ล้านล้านบาท

โครงการคลินิกแก้หนี้ ช่วยเหลือสะสมตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2560 – 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 102,647 ล้านบัญชี คิดเป็น 85% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 437 ราย มูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 63,620 ล้านบาท ขณะที่ช่องทางการช่วยเหลือผ่านทางด่วนแก้หนี้ สะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 279,659 บัญชี คิดเป็น 74% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข

ขณะเดียวกัน การให้สินเชื่อใหม่ รวมทั้งสิ้น 137,462 ราย ยอด 348,897 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อฟื้นฟู 59,675 ราย 210,697 ล้านบาท โดยสัดส่วน 37.5% กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (วงเงินมากกว่า 5 – 50 ล้านบาท) สัดส่วน 68% กลุ่มประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ สัดส่วน 69.9% ลูกหนี้อยู่ในต่างจังหวัด

Advertisement

และมาจรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) (ปิดรับคำขอ 12 เมษายน 2564) จำนวน 77,787 ราย 138,200 ล้านบาท โดยสัดส่วน 37.5% กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (วงเงินมากกว่า 5 – 50 ล้านบาท) สัดส่วน 64.9% กลุ่มประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ สัดส่วน 68.2% ลูกหนี้อยู่ในต่างจังหวัด

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image