เอกชนคาดส่งออกแผ่ว แนะใช้สกุลบาทค้ากันดอลล์ป่วน ชี้ไทยเคยใช้บาท-จ๊าดฉลุย

ธุรกิจกุมขมับ บาทแข็งโป๊ก ส่งออกไทยตกขอบ สะกิดแผลเศรษฐกิจ

เอกชนคาดส่งออกแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แนะใช้สกุลบาททำธุรกิจป้องดอลล์ป่วน ชี้ค้าชายแดนเคยใช้บาท-จ๊าดฉลุย เผยเจรจาแล้ว 4 ประเทศกลุ่มเอเชียพร้อมดีล

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกปี 2566 มีโอกาสขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากตัวเลขล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุการส่งออกเดือนมกราคม หดตัวที่ 4.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

เป็นแนวโน้มสอดคล้องกับที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคม คาดการส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวในกรอบ 1.0-0.0% เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0-2.0% จึงมองว่าการส่งออกปีนี้อาจโตต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก หลังตัวเลขลดลง เป็นผลจากความกังวลของประเทศทั่วโลกเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว โดยประเทศต่างๆ จะนำเข้าสินค้าจำเป็น และไม่ต้องการกักตุนสินค้า สอดคล้องกับไทยที่เป็นประเทศผู้ผลิตที่มีความกังวล อาทิ ปลายทางประเทศผู้บริโภคไม่ต้องการจับจ่าย เรื่องต้นทุนทางการเงินขยับขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ย หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม รวมถึงประเทศไทย

Advertisement

“ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญขึ้นในภาวะที่ความผันผวนมีมากขึ้น ภาคเอกชนอยากเห็นมาตรการเรื่องการดูแลเสถียรภาพ หรือวิธีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการ”นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ รายกลางมีการป้องกันดี และรายย่อยมีการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการทดลองทำวิธีการประกันค่าเงิน (Options) และวิธีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) เพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นมาตรการควรมีต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ การป้องกันความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งจะมีวิธีการที่เป็นตัวช่วยอีก 2 วิธีการ 1.เรื่องที่ ธปท.ได้เจรจากับ 4 ประเทศ และมี 4 สกุลเงิน ที่จะทำการซื้อขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของเงินเหรียญสหรัฐ

Advertisement

และ 2.ผู้ประกอบการจะค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) และประเทศเหล่านี้ยอมรับสกุลเงินบาท หากมีการซื้อขายสกุลเงินบาทได้จะถือว่าเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุด หากต้นทุนเป็นเงินบาท และขายออกเป็นเงินบาทจะคำนวณต้นทุนไม่ผิดคลาดไปจากที่ตั้งไว้

“เช่น ช่วงที่ผ่านมาการค้าชายแดนไทยในบางประเทศที่ใช้เงินบาท (THB) และเงินจ๊าด (MMK) สกุลเงินเมียนมา ไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยด้วย”นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าภายในประเทศสบายใจขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่าทิศทางเดียวกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง หากเป็นไปตามทิศทางเดียวกัน ทุกประเทศที่ทำการค้าจะไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างกันมากนักในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การซื้อขายสะดวกขึ้น

“สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยอยากจะฝากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาถึงผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว และมีหลายรายมีปัญหาทางการเงินานปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วจะส่งผลถึงต้นทุนที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่สามารถสู้ต่อได้ อย่างไรก็ตาม หากปรับดอกเบี้ยแต่มีมาตรการรองรับช่วยผู้ประกอบการจะเป็นเรื่องดีที่สุด” นายวิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image