ส.ธุรกิจแอลกอฮอล์ไทย หวังตามรอย อสม. วอนรัฐไฟเขียว 2 ข้อเสนอก่อนยุบสภา

ส.ธุรกิจแอลกอฮอล์ไทย หวังตามรอย อสม. วอนรัฐไฟเขียว 2 ข้อเสนอก่อนยุบสภา

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยการเพิ่มค่าป่วยการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน เนื่องด้วย อสม. ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญด้านสาธารณสุขเป็นฐานรากด้านที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ซึ่งการทำงานของ อสม. ถือได้ว่าเป็นการทำงานในลักษณะของการตรากตรำและอาจมีความเสี่ยงภัยในบางครั้ง เช่น ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เหล่า อสม. จำเป็นที่จะต้องเข้าไปสำรวจและให้คำแนะนำป้องกันการแพร่ระบาดกับชุมชนแบบเข้าถึงอย่างจริงจัง เป็นต้น

Advertisement

“แต่เมื่อหันมาพิจารณาในส่วนของงบสนับสนุนในค่าป่วยการของ อสม. ดังกล่าวที่รัฐบาลได้พิจารณาเพิ่มขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่จำเป็นที่จะต้องไปจัดหางบประมาณเพื่อมารองรับค่าป่วยการที่เพิ่มขึ้นนี้ให้แก่ อสม. ซึ่งย่อมเป็นอีกภาระหน้าที่ของรัฐบาลในอันที่จะต้องบริหารจัดการในส่วนของงบประมาณนี้”

“รวมถึงในอีกหลายโครงการที่รัฐบาลได้พิจารณาอนุมัติให้การสนับสนุน เช่น การขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องไปจัดสรรหาเงินเพื่อนำมาสนับสนุนในโครงการดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว รัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจะต้องไปหาเงินงบประมาณมาจากไหนได้บ้าง” นายธนากรกล่าว

นายธนากรกล่าวว่า ในฐานะของภาคเอกชนที่ได้เคยมีข้อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขอให้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวด้านอาหารและเครื่องดื่ม

Advertisement

โดยขอให้ทบทวนยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาบ่าย 2 โมงถึง 5 โมงเย็น ขอให้ทบทวนเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง โดยเฉพาะสถานบันเทิงที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในบางพื้นที่ของแต่ละจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา หัวหิน ถนนข้าวสาร เป็นต้น

โดยขอให้เปิดสถานบันเทิงในพื้นที่จนถึงตีสี่ และขอให้มีการทบทวนการจัดพื้นที่โซนนิ่งที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่พิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่มีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันจะก่อให้เกิดรายได้ การจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ และทำให้รัฐบาลสามารถมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการที่รัฐบาลอนุมัติให้การสนับได้อีกด้วย

นายธนากรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว อยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1.มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (ป้องกันเด็กและเยาวชน) และใช้มาตรการป้องกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน (เมาแล้วขับ) และขอให้ลงโทษบทหนักกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง

2.เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้มีการติดตามและประเมินผลจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว หากไม่คุ้มค่ากับทางเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุขแล้ว ให้นำมาตรการเดิมมาใช้บังคับดังเดิมต่อไป

“เราเสนอด้วยเหตุและผล ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศเพื่อความยั่งยืนต่อไป อยากขอให้รัฐบาลได้พิจารณาข้อเสนอนี้ก่อนจะได้มีประกาศยุบสภา” นายธนากรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image