สุ่มตรวจรายได้ ‘ออนไลน์’ สรรพากรใช้เอไอล่าภาษี

สุ่มตรวจรายได้ ‘ออนไลน์’ สรรพากรใช้เอไอล่าภาษี

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า กรมสรรพากรกำลังเพิ่มประสิทธิภาพระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-tax เพื่อดึงคนเข้าระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางจำนวนที่มากอยากเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง แต่มีปัญหาความยุ่งยากในการทำระบบบัญชีและภาษี ซึ่งกรมจะอำนวยความสะดวกให้สามารถยื่นภาษีได้ถูกต้อง ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดและถูกเก็บภาษีย้อนหลัง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้บริการกับผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) ที่มีโปรแกรมด้านภาษีที่ได้รับอนุญาตจากกรมให้เป็นผู้นำส่งภาษีให้กับกรมได้

“หลายประเทศได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ในการตรวจสอบการเสียภาษี สำหรับกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการทดลองใช้ในแซนด์บ็อกซ์ ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทในการสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึงการค้าขาย ซึ่งระบบเอไอสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าผู้เสียภาษีรายนั้นๆ มีการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ ว่าค้าขายอะไรบ้าง” นายลวรณกล่าว และว่า การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นเสียภาษีจะทำให้ระบบการคืนภาษีรวดเร็วมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เป็นระบบที่ใช้คนเป็นผู้ตรวจสอบ อาจใช้เวลาพิจารณาเพื่อคืนภาษีเป็นเดือน แต่เมื่อตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจใช้เวลาเหลือเพียง 7 วัน เท่านั้น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า ปัจจุบันกรมได้ทำการสุ่มตรวจตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊กที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้า หรือการไลฟ์สดขายสินค้า เพื่อตรวจสอบว่ารายได้ของบุคคลเหล่านั้นเสียภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่

Advertisement

นอกจากนี้ สรรพากรยังใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Web Scraping คือเทคนิคดึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ดึงข้อมูลราคาและประเภทสินค้าที่ค้าขายผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ รวมถึงสามารถรู้รายได้ของผู้เสียภาษี จากข้อมูลที่สถาบันการเงินต้องนำส่งให้กรมสรรพากรตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่าให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีให้กับกรม และกรณีมีการโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปต่อปี แต่มีเงินที่โอนเข้ารวมกันเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็จะต้องนำส่งข้อมูลให้กับกรมด้วย ทำให้กรมสรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image