อีคอนไทย ผวา 2 นโยบายพรรคการเมือง ค่าจ้าง 600 – เบี้ยคนชรา 3,000-5,000

อีคอนไทย ผวา 2 นโยบายร้อนของพรรคการเมือง ทั้งค่าจ้าง 600 บาท – เบี้ยคนชรา 3,000-5,000 บาท มองข้ามช็อตนโยบายรบ.ใหม่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า จากกรณีดังกล่าวทางภาคเอกชนไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นแต่อย่างใด เพราะเป็นไทม์ไลน์ที่รับทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการประกาศยุบสภาก่อนวันที่ 22 มีนาคมนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนได้รับความชัดเจนมากขึ้นแล้วว่าเราจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้เมื่อไหร่ ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายๆ หน่วยงานมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เราจะได้รัฐบาลชุดใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

ปัจจุบันเอกชนได้มองข้ามช็อตไปถึงเรื่องการมาของรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ว่ามีโอกาสที่จะเป็นพรรคไหน และนโยบายเป็นอย่างไร เนื่องจากการเลือกตั้งในสมัยนี้ แข่งกันด้วยนโยบาย ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่แข่งกันด้วยฐานเสียง หรือที่รู้โดยทั่วกันคือการจ่ายเงินซื้อเสียง ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองนโยบายของแต่ละพรรค

มี 2 ประเด็นหลัก ที่เอกชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ 1.เรื่องค่าจ้าง ที่มีนโยบายตั้งแต่อัตรา 450 บาทต่อวัน ที่พร้อมปรับขึ้นทันที และปรับขึ้นป็นอัตรา 600 บาทต่อวัน ภายใน 5 ปี ซึ่งนโยบายเช่นนี้กระทบต่อภาคเอกชนแน่นอน จึงมองว่าไม่ควรนำนโยบายนี้มาใช้เพื่อหาเสียง

Advertisement

2.นโยบายเพิ่มเบี้ยคนชรา ในอัตรา 3,000-5,000 บาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณของประเทศทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของ ภาษี ที่ประชาชนหรือภาคเอกชน ต้องมาลุ้นว่าภาครัฐจะมีการจัดเก็บอย่างไร อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล รวมถึงมีความกังวลเรื่องงบกำไรขาดุลของประเทศ ที่ปัจจุบันขาดดุลหลายแสนล้านบาทอยู่แล้ว หากดำเนินนโยบายเหล่านี้ จะขาดดุลเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท หรือไม่

เรื่องของการลงทุนในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง นั้น ในเรื่องของการลงทุนใหม่ๆ ตอนนี้ทางภาคเอกชน หรือนักลงทุนต่างชาติคงยังไม่มีในช่วงนี้ เพราะอยู่ในช่วงหยุดดูว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางใด แต่หากเป็นการลงทุนต่อเนื่องก็คงไม่มีทางเลือก และต้องเดินหน้าลงทุนต่อไป แต่ตอนนี้บริษัทต่างชาติหลายบริษัท เริ่มเตรียมตัวย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย ไปปักหมุดใหม่ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแล้ว โดยที่มาของการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยของนักลงทุนส่วนใหญ่ เริ่มมองว่าต้นทุนเรื่องค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนการลงทุนใหม่ที่ต้องใช้แรงงานคน ไทยคงไม่ใช่จุดหมายปลายทางอีกต่อไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการมองว่าควรทำตามทำเนียมปฏิบัติ ควรให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารต่อไป

Advertisement

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image