ส่องธุรกิจ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ถึงจุดอิ่มตัว ‘ไรเดอร์’ ส่อรายได้หด-ตกงาน หลังสถานการณ์โลกเปลี่ยน

ส่องธุรกิจ “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ถึงจุดอิ่มตัว “ไรเดอร์” ส่อรายได้หด-ตกงาน หลังสถานการณ์โลกเปลี่ยน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และผู้คนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านมากขึ้น จึงทำให้ธุรกรรมออนไลน์ที่ถูกกระตุ้นให้เร่งตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาดของโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มชะลอหรือหดตัวลง ซึ่งช่องทางจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (ฟู้ดเดลิเวอรี่) ก็มีทิศทางเช่นนั้น สะท้อนผ่านเครื่องชี้ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 อ้างอิงข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ได้แก่

1.ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พัก หดตัวลงประมาณ 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2.ดัชนีผู้ลงทะเบียนใช้บริการใหม่ หรือผู้สมัครใช้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร ปรับลดลง 50% 3.ดัชนีจำนวนร้านอาหารที่สมัครเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ยังเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% 4.ดัชนีปริมาณไรเดอร์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม หดตัวประมาณ 31%

ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พัก (ฟู้ดเดลิเวอรี่) น่าจะหดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ตลาดจะมีปัจจัยหนุนจากวันหยุดยาวหลายช่วง การปิดภาคการศึกษา ประกอบกับบางองค์กรที่ยังใช้รูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานทำงานในออฟฟิศ (Hybrid Working) ก็ตาม

Advertisement

ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก ปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักน่าจะยังหดตัวราว 8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ได้ปรับตัวอย่างก้าวกระโดดมาในช่วง 2-3 ปีก่อนจนปัจจุบันกล่าวได้ว่าน่าจะใกล้ภาวะอิ่มตัวระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ การหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนดังกล่าว เป็นการปรับสมดุลตามบริบทและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งมีหน้าร้านมีแนวโน้มจะได้ยอดขายที่ฟื้นตัวกลับมาตามการกลับมาทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ยังพบว่าการใช้งานแอพพ์เพื่อค้นหาร้านอาหารและอ่านรีวิวก่อนไปรับประทานที่ร้านโดยผู้บริโภคมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าในปี 2566 มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการแข่งขันในตลาดจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากและหลากหลาย ประกอบกับต้นทุนธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงหรือปรับตัวขึ้น เช่น วัตถุดิบ แรงงาน ค่าเช่า เป็นต้น

ทำให้รายได้จากช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ยังคงสำคัญและเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารคงยังจำเป็นต้องรักษาสมดุลในการบริหารช่องทางการขาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยง ขณะที่ ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายก็มีสัดส่วนรายได้ในช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สูงขึ้นมามากเมื่อเทียบกับก่อนโควิดด้วย

นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่าไรเดอร์หรือผู้ขับขี่ให้บริการจัดส่งอาหารมีจำนวนลดลงในอัตราที่มากกว่าปริมาณการสั่งอาหาร ส่วนหนึ่งน่าจะกลับไปประกอบอาชีพอื่นตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในภาพรวม ซึ่งทิศทางดังกล่าว ก็น่าจะเป็นผลดีต่อไรเดอร์ที่เหลืออยู่ในระบบ เนื่องจากเป็นการลดแรงกดดันในการแข่งขันกันรับออเดอร์ ทำให้มีโอกาสที่ไรเดอร์หนึ่งคนจะได้รับจำนวนออเดอร์เฉลี่ยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่นั้น น่าจะมีการรับรู้และเตรียมการรับมือกับภาพทิศทางการปรับตัวของตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว โดยช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่จะยังสำคัญต่อทั้งร้านอาหารและผู้บริโภค แต่การรักษาปริมาณการสั่งอาหาร การรักษาคุณภาพการให้บริการที่สะท้อนถึงความคุ้มค่า และการมุ่งเป้าที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไร จะยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง ดังนั้น การกระตุ้นการตลาดในจังหวะที่เหมาะสมและตรงกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image