สำรวจ ‘ธุรกิจน้อย-ใหญ่’ อยู่กันอย่างไร ท่ามกลางวิกฤต ‘ค่าไฟแพง’

สำรวจ ‘ธุรกิจน้อย-ใหญ่’ อยู่กันอย่างไร ท่ามกลางวิกฤต ‘ค่าไฟแพง’

ท่ามกลางฤดูร้อนที่ไม่เหมือนเคย เกิดปรากฎการณ์ “ค่าไฟแพง” มาพร้อมเสียงร้องระงมจากภาคธุรกิจน้อย-ใหญ่ ที่หนาวสะท้านหลังเห็นบิลค่าไฟพุ่งทะลุเป็นหลักล้านบาท และพูดเป็นเสียงเดียวกัน “ไม่เคยเจอค่าไฟแพงขนาดนี้มาก่อน ตั้งแต่ทำธุรกิจมา 30-40 ปี”

แล้วภาคธุรกิจเขาอยู่กันอย่างไร เพื่อประคับประคองต้นทุน เพื่อตรึงราคาสินค้าและบริการไว้ให้นานที่สุด

โรงภาพยนต์

Advertisement

ตามไปดูธุรกิจโรงภาพยนต์ “สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSF บอกว่า จากประสบการณ์จากโควิด เรามีการลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้นทุนยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงต้องฉายหนัง ซึ่งตัวค่าไฟที่สูงขึ้นไม่ได้กระทบรายได้ แต่กระทบค่าใช้จ่ายมากกว่าเป็นหลัก 100 ล้านต่อปี ซึ่งค่าไฟกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้น 10% และเอสเอฟยังไม่มีนโยบายผลักภาระให้ผู้บริโภค เราพยายามประหยัด ใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพ หากสาขาไหนไม่มีรอบฉาย อาจจะต้องปิดไฟ ปิดแอร์

ขณะที่การติด “โซลาร์เซลล์” ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลากธุรกิจนำมาเป็นตัวช่วยในการประหยัด แม้จะเอาค่าไฟไม่อยู่ แต่ก็ประหยัดไปได้ 20-30%

กลุ่มโรงงานผลิตสินค้า

Advertisement

เห็นชัดกลุ่มโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ เริ่มมีการลงทุนติดตั้งกันอย่างคึกคัก โดย “ศุภพงษ์ เพชรสุทธิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าตรา”จระเข้” ระบุค่าไฟที่แพงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทมาก ตั้งแต่ต้นปี 2566 ค่าไฟเพิ่มขึ้น 300,000-400,000 บาทต่อเดือน จากเดิม 700,000-800,000 บาทต่อเดือน เป็น 1.2 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งบริษัทลงทุน 4 ล้านบาท ติดโซลาร์รูฟในเครื่องจักรเพิ่งจะทดสอบเฟสแรกเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หากเฟสแรกได้ผลจะขยายเฟสต่อไป จะใช้เงินลงทุนอีก 20 ล้านบาท

ด้านโรงงานร้องเท้ายี่ห้อดัง “แกมโบล” (GAMBOL)ทาง “นิติ กิจกำจาย” กรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ดังกล่าว จากค่าไฟแพงทำให้มีภาระจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน จาก 7 ล้านบาท เป็น 9 ล้านบาท โดยบริษัทอยู่ระหว่างสำรวจจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่โรงงาน แม้ว่าจะช่วยอะไรไม่ได้มาก ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนในช่วงพีคเวลา 18.30-20.30 น. จะลดการทำโอที ไม่ให้เกิน 18.30 น.

เช่นเดียวกับ “ธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ” ซีอีโอบริษัท ซี ดริ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์ซีทรู (C2) บอกว่าจากค่าไฟแพงกระทบต้นทุนการผลิตน้ำ แต่เราไม่มองกำไรอย่างเดียว พยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ติดโซลาร์เซลล์ที่โรงงานผลิตน้ำดื่ม และพัฒนาใช้เครื่องจักรที่ใช้ไฟน้อยลง เพื่อช่วยประหยัดและยังคงขายราคาไว้ 10 บาทต่อขวด เพราะเพิ่งทำตลาดมา 1 ปี จากก่อนหน้านี้เรารับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ให้กับธุรกิจต่างๆ

ฝั่ง “เถ้าแก่น้อย” หรือบมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ทางซีอีโอ “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” มีการปรับแผนการผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ค่าไฟในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารCPF หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีเสียงสะท้อนจากซีอีโอ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจยังมีความกังวลและอยู่ในภาวะลำบากจากค่าไฟที่สูงขึ้นมาก ซึ่งที่ผ่านมาขึ้นมาแล้วกว่า 30% เป็นภาระต้นทุนที่หนักมาก ขณะที่กำลังซื้อของตลาดโดยรวม การค้าขายก็ไม่ได้สูงขึ้น ผู้ประกอบการจะขายสินค้าแพงก็ไม่ได้ จะลดต้นทุนมากกว่านี้ก็ไม่ได้ รวมถึงจะผลักภาระไปยังราคาสินค้าก็ไม่ได้อีก จึงต้องแบกภาระกันต่อไป ทางซีพีกำลังหาวิธีบริหารจัดการมห้ดีขึ้น เช่น ใช้พลังงานสะอาดหรือโซลาร์เซลล์ ตอนนี้ใช้แล้วกว่า 30%

ฝั่ง “เครือสหพัฒน์” ทาง “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเราคงจัดการอะไรไม่ได้ก็ต้องยอมรับสภาพต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามค่าไฟยังส่งผลกระทบน้อยมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ยังเพิ้มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าไฟแพง ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและกำไรลดลง หรือบริษัทไหนที่กำไรน้อยก็อาจจะขาดทุน

“บริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟ ด้วยการประหยัดไฟ ใช้ให้น้อยลง เช่น พักกลางวันก็ปิดแอร์ ปิดไฟ หรือขยับเวลาเปิดในตอนเช้า และลงทุนติดโซลาร์เซลล์ในบางโรงงานและสำนักงาน เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ยังไม่มีปรับราคาสินค้าขึ้น แต่จากต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะขอ
กรมการค้าภายในปรับราคาขายในสินค้าบางรายการ”นายบุญชัยกล่าว

โรงเรียน

แม้แต่ “โรงเรียน” ยังต้องลุกมาติดโซลาร์เซลล์ โดย “เพิ่มเกียรติ เกษกุล” นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าไฟมีผลต่อค่าไฟของโรงเรียนเอกชน เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ไฟในช่วงกลางวัน อย่างไรก็ตามโรงเรียนเอกชนเริ่มมีการติดโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟบ้างแล้ว เช่น
โรงเรียนในเครือขจรเกียรติซึ่งเป็นธุรกิจของตนนั้น ได้ติดโซลาร์เซลล์ในบางสาขา สามารถประหยัดค่าไฟได้บ้างจากเดิมเคยจ่าย 700,000 บาทต่อเดือน ลดลงมาอยู่ที่ 500,000 บาทต่อเดือน แต่ช่วงที่ไฟแพงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามค่าไฟ

ศูนย์การค้า

มาดูธุรกิจศูนย์การค้าซึ่งใช้ไฟมากไม่แพ้ธุรกิจอื่น เพราะต้องรักษาอุณหภูมิให้เย็นฉ่ำ หลังคนหนีร้อนมาพึ่งเย็นกันอย่างคึกคัก

“สมพล ตรีภพนารถ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)หรือMBK กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน แม้จะติดโซลาร์เซลล์แล้วก็ตาม ปัจจุบันทุกศูนย์การค้าที่บริหารได้ติดโซลาร์เซลล์หมดแล้ว ช่วยประหยัดไฟได้ 30%ในช่วงกลางวัน แต่ค่าไฟก็สูงขึ้นตามค่าเอฟที เพราะเปิด 24 ชั่วโมง

ไม่ต่างจากร้านค้าปลีกและค้าส่งฮกกี่ เมกาสโตร์ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า แม้จะติดโซลาร์เซลล์แล้วที่สาขาใหญ่ ค่าไฟยังเพิ่มขึ้นเดือนละ 200,000 บาท ยังไม่รวมค่าไฟสาขาย่อย 10 สาขา โดยได้มีการบริหารจัดการด้วยการให้พนักงานช่วยกันประหยัด เช่น กลางวันปิดไฟ ปิดแอร์ ใช้เท่าที่จำเป็น และจะติดโซลาร์เซลล์อีก 10 สาขาด้วย

 

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image